เปิดหลักเกณฑ์ กทม. เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากน้ำทะเลหนุนสูง ตรวจสอบสิทธิ ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยาอะไรบ้าง ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเช่าบ้าน ทุนประกอบอาชีพ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการคลัง สำนักงานเขต และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
สืบเนื่องจากเหตุการณ์น้ำทะเลหนุนสูงเมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในชุมชนนอกคันกั้นน้ำ และบริเวณแนวฟันหลอ โดยมีเขตที่อยู่แนวริมแม่น้ำและได้รับผลกระทบ จำนวน 19 เขต
ประกอบด้วย 1. เขตบางซื่อ 2. เขตดุสิต 3. เขตพระนคร 4. เขตสัมพันธวงศ์ 5. เขตบางรัก 6. เขตสาทร 7. เขตบางคอแหลม 8. เขตยานนาวา 9. เขตคลองเตย 10. เขตพระโขนง 11. เขตบางนา 12. เขตทวีวัฒนา 13. เขตตลิ่งชัน 14. เขตบางกอกน้อย 15. เขตบางกอกใหญ่ 16. เขตธนบุรี 17. เขตคลองสาน 18. เขตบางพลัด และ 19. เขตราษฎร์บูรณะ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้ดำเนินการในเบื้องต้นไปแล้วนั้น สำนักพัฒนาสังคมสนับสนุนอาหารกล่องจากรถครัวสนามพร้อมน้ำดื่ม นอกจากนี้ ยังจัดทีมอาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. บริการตรวจสภาพและซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ พัดลม เตารีด เครื่องซักผ้า เป็นต้น ให้กับประชาชนชุมชนเจ้าพระยาสยาม และวังพระองค์เจ้าพร้อม เขตบางพลัด และจะให้บริการประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ และวัดกลาง ดาวคะนอง เขตธนบุรี ในลำดับต่อไป
สำหรับแนวทางทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่เร่งดำเนินการออกหนังสือรับรองผู้ประสบภัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 โดยการให้ความช่วยเหลือ อาจจะให้เป็นเงิน วัสดุสิ่งของหรือบริการ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นของผู้ประสบภัยแต่ละราย แบ่งเป็น
1. ประเภทการเงิน อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าที่พักอาศัยชั่วคราว เงินทุนประกอบอาชีพ
2. ประเภทสิ่งของ อาทิ วัสดุสมทบสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค เครื่องครัว เครื่องมือประกอบอาชีพ และ
3. ประเภทบริการ อาทิ ค่าอาหารจัดเลี้ยงวันละไม่เกิน 3 มื้อ ค่าจัดสร้างหรือดัดแปลงสถานที่พักชั่วคราว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีเงินสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษา ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ. 2557 ของสำนักพัฒนาสังคม ประเภทค่าใช้จ่าย ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลและประถมศึกษา จนถึงระดับปริญญาตรีด้วย ซึ่งได้เร่งให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานสำนักงานเขตพื้นที่ร่วมกันสำรวจข้อมูลความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์นี้ (19 พ.ย. 64) โดยคาดว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ อ้างอิง ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้
ข้อ 6 การให้ความช่วยเหลืออาจจะให้เป็นเงิน วัสดุสิ่งของหรือบริการ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และอัตราดังต่อไปนี้
ก. ประเภทการเงิน
(1) ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
(2) ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการประสบสาธารณภัยให้ความช่วยเหลือ ตามความจำเป็น ดังนี้
(2.1) ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 2,000 บาท
(2.2) กรณีต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลให้ช่วยเหลือเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน 4,000 บาท ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยรายใหญ่หรือรุนแรงเป็นที่สะเทือนขวัญ ของประชาชนทั่วไปให้จ่ายเงินปลอบขวัญคนละไม่เกิน 2,300 บาท
(2.3) กรณีเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บสาหัสหรือพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ และเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงครอบครัว ให้ช่วยเหลือเป็นเงินค่าครองชีพคนละ ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
(3) ค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้าน หากผู้ประสบสาธารณภัยพักอาศัยในบ้านหรือที่พักอาศัยอื่นซึ่งต้องเสียค่าที่พักอาศัยชั่วคราว หรือค่าเช่าบ้าน ให้ช่วยเหลือ ทั้งนี้ ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน นับแต่วันที่ประสบสาธารณภัย ในกรณีหน่วยงานจัดทำหรือจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ผู้ประสบสาธารณภัยได้พักอาศัย ได้ไม่เกิน 2 เดือนนับแต่วันที่ประสบสาธารณภัย โดยให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง
(4) เงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
(5) เงินทุนฝึกอาชีพ เฉพาะผู้ประสบสาธารณภัยที่ได้รับอันตราย เป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ ต้องได้รับการฝึกอาชีพใหม่ ในวงเงินคนละไม่เกิน 5,000 บาท
(6) ค่าพาหนะในการส่งกลับภูมิลำเนาเดิม สำหรับผู้ประสบสาธารณภัยที่มีภูมิลำเนาเดิม อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร แต่มาอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และมีความประสงค์จะอพยพกลับภูมิลำเนาเดิม ในวงเงินเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อหนึ่งคน
(7) ค่าพาหนะในการขนส่งสิ่งของเครื่องใช้ไปยังที่พักแห่งใหม่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อหนึ่งครอบครัว
(8) เงินสมทบจัดซื้อสัตว์เลี้ยงหรือพืชพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ในกรณีที่ผู้ประสบสาธารณภัยมีอาชีพในการทำเกษตรกรรมหรือเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท ต่อหนึ่งครอบครัว
ฯลฯ
ข่าวจาก : pptvhd36
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ