สปส.เปิดไทม์ไลน์ขยายอายุบำนาญชราภาพ ยันไม่กระทบผู้ประกันตนเดิม





สปส.เปิดไทม์ไลน์ขยายอายุบำนาญชราภาพ ยันไม่กระทบผู้ประกันตนเดิม

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้มีจำนวนแรงงานลดลง ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้มีจำนวนผู้สูงอายุและผู้รับบำนาญเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ระบบการแพทย์ที่ดีขึ้นและสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนจะได้รับบำนาญเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นก็จะตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้นทุนสูงขึ้นมากจนเกินไป ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างต้องนำส่ง สปส. จึงมีนโยบายการปรับปรุงอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ (หรือที่เรียกกันว่าอายุเกษียณ) เพื่อให้เกิดสมดุลกับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ และควบคุมต้นทุนของระบบบำนาญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นมาตรการปกติที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกดำเนินการ

นายบุญสงค์ กล่าวว่า สปส. ได้มีการจัดทำแนวทางการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบบำนาญชราภาพ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนเมื่อต้องเข้าสู่วัยเกษียณ โดยที่การขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เป็นมาตรการหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการใช้กับผู้ประกันตนใหม่ และผู้ประกันตนที่อายุน้อยเท่านั้น ผู้ประกันตนปัจจุบันที่ใกล้เกษียณอายุจะไม่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ นายบุญสงค์ กล่าวว่า การขยายอายุเกิดสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกันตนได้รับบำนาญในอัตราที่สูงขึ้นด้วย โดยจะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อทุกปีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ

“ตัวอย่างเช่น หากส่งเงินสมทบกรณีชราภาพตั้งแต่อายุ 35 ปี และทำงานจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับทำงาน 20 ปี หากมีค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 15,000 บาท จะได้บำนาญในอัตรา ร้อยละ 35 ของ 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 5,250 บาท และหากขยายระยะเวลาการทำงานถึงอายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก ร้อยละ 7.5 ทำให้บำนาญเพิ่มเป็น ร้อยละ 42.5 ของค่าจ้าง 15,000 บาท หรือคิดเป็นเดือนละ 6,375 บาท (เพิ่มขึ้น 1,125 บาท) ไปตลอดชีวิต” นายบุญสงค์ กล่าว

เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว สปส.ได้ดำเนินการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ สปส. และมีการสรุปการรับฟังความคิดเห็นให้ทราบด้วยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในลำดับถัดไป หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: