ราชทัณฑ์ ยันไม่มีนโยบายบังคับขู่เข็ญ-ทำร้ายผู้ต้องขังให้ทำงาน แจง นโยบายเน้นหนักด้านพัฒนาพฤตินิสัย ด้วยการให้โอกาส-เพิ่มทักษะอาชีพสุจริต
วันที่ 24 ธ.ค.2564 นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายผู้ต้องขังเพื่อให้ทำงานนั้น กรมราชทัณฑ์ขอสร้างความเข้าใจต่อสังคม ว่า การฝึกวิชาชีพ และการให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสทำงานเพื่อเพิ่มทักษะ ในวิชาชีพเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพฤตินิสัย โดยมีความมุ่งหวังให้ผู้ต้องขังมีความรู้และทักษะ เพื่อนำไปประกอบอาชีพที่สุจริตภายหลังพ้นโทษ
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า กรณีที่ข่าวกล่าวถึงเฉพาะงานบางประเภท อาจจะไม่สะท้อนภาพรวมเท่าใดนัก ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ต้องขังได้รับโอกาสในการทำงานที่หลากหลาย เช่น การฝึกเป็นผู้ให้บริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์ (คอลเซ็นเตอร์) ได้รับเงินรางวัลปันผล จำนวน 4,262 บาท/คน/เดือน, การฝึกวิชาชีพทำเบเกอรี่ ที่ได้รับเงินรางวัลปันผล จำนวน 13,882 บาท/คน/เดือน, การฝึกอาชีพคาร์แคร์ได้รับปันผล 1,462 บาท/คน/เดือน และการฝึกวิชาชีพคัดแยกผลไม้อบแห้ง ได้รับปันผล 3,420 บาท/คน/เดือน เป็นต้น
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ขึ้นกับความรู้พื้นฐานของผู้ต้องขัง ขีดความสามารถ ความพร้อมด้านร่างกาย และจิตใจของผู้ต้องขัง รวมถึงความต้องการ ของตลาดแรงงานด้วย สำหรับประโยชน์ที่ผู้ต้องขังได้รับ นอกเหนือจากความรู้ ทักษะ และประสบการณ์โดยตรงแล้ว ยังช่วยฝึกในเรื่องของทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเวลา การวางแผน และการใช้สมาธิ ซึ่งถือเป็นประโยชน์โดยอ้อมด้วย
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในส่วนของการปันผลนั้น การฝึกวิชาชีพหรือการฝึกทักษะการทำงานแล้วมีรายได้เกิดขึ้น กรมราชทัณฑ์จะมีการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะเงินปันผล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินผลพลอยได้จากการดำเนินงานฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังเป็นรางวัลที่กำหนดไว้อยู่แล้ว โดยการฝึกวิชาชีพผลิตอวนก็ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า การบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายผู้ต้องขังเพื่อให้ทำงาน ไม่ใช่แนวทางของกรมราชทัณฑ์ และเป็นการกระทำที่มิอาจรับได้ ทั้งนี้การที่ผู้ต้องขังทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน ถือเป็นนโยบายเน้นหนักของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมตลอดมา โดยมีมาตรฐาน การปฏิบัติงานและกลไกในการตรวจสอบหลายระดับ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความเป็นธรรมสำหรับผู้ต้องขังทุกคน
นายธวัชชัย กล่าวว่า ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงขอให้ทุกท่าน มีความเชื่อมั่นในกระบวนการการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง และกรมราชทัณฑ์พร้อมที่จะให้ข้อมูล และความร่วมมือสำหรับทุกภาคส่วน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่น และความตั้งใจจริงของกรมราชทัณฑ์
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ