โลกกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
หลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อาร์เจนตินา บราซิล และประเทศอื่น ๆ กำลังมียอดผู้ติดโควิดพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อันเนื่องมาจากการที่เชื้อกลายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน แพร่ระบาดในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิทยาศาสตร์ สถาบันด้านสุขภาพต่าง ๆ ยังคงยึดถือวัคซีนต้านโควิดเป็นหนึ่งในหนทางการต่อสู้กับโรคระบาดนี้
บีบีซีได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์ว่าวัคซีนมีส่วนช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร และเหตุใดบางคนยังคงติดเชื้อได้ ทั้งที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว
ประเด็นถกเถียงผิด ๆ ระบาดในโลกออนไลน์
การพบยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงทำสถิติใหม่รายวันในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ทำให้ประเด็นเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนกลายเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง
ในขณะที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางคนวิจารณ์มาตรการที่ทางการประเทศต่าง ๆ ใช้กระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด หลายคนก็วิจารณ์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีน
จนถึงบัดนี้ ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบจากวัคซีนต้านโควิดยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และมักหายได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน โดยอาการที่พบบ่อยมีอาทิ อาการเจ็บและแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการหนาวสั่น และคลื่นไส้
ส่วนอาการรุนแรงกว่าที่พบ เช่น อาการภูมิแพ้ที่มีปฏิกิริยารุนแรงอย่างเฉียบพลัน (anaphylaxis) การเกิดลิ่มเลือด (thrombosis) โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านสาธารณสุขชี้ว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนต้านโควิดนั้น มีมากกว่าความเสี่ยงที่ตรวจพบส่วนใหญ่
ทีมข่าวบีบีซีได้พูดคุยกับ นพ.เรนาโต คะฟูรี กุมารแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นแนวหน้าของบราซิล เกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต้านโควิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการติดโควิดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว
นพ. คะฟูรี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสมาคมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งบราซิล กล่าวว่า วัคซีนต้านโควิดรุ่นแรกของบริษัทต่าง ๆ เช่น ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีจุดประสงค์หลักเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ที่อาจทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือทำให้เสียชีวิต
เขาอธิบายว่า “วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักจากโควิดได้มากกว่าป้องกันอาการป่วยระดับปานกลาง หรือการติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการจากโรคนี้ ยิ่งโรคมีความรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น”
ดังนั้น เป้าหมายหลักของวัคซีนเหล่านี้ จึงไม่ใช่การหยุดยั้งการแพร่เชื้อโควิด แต่คือการทำให้เชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย สร้างความเสียหายได้น้อยลง
หลักการนี้ยังใช้กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีใช้มานานหลายทศวรรษ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการฉีดให้ประชาชนเป็นประจำทุกปี ไม่ได้มีเป้าหมายหลักในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อไข้หวัดใหญ่ แต่เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นในคนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชรา
หากมองในภาพกว้าง ประสิทธิภาพการป้องกันการป่วยรุนแรงนี้ ส่งผลโดยตรงต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม เพราะการลดอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงสอดคล้องกับจำนวนที่ลดลงของผู้เข้ารับบริการในห้องฉุกเฉิน การมีเตียงว่างเพิ่มขึ้นในการรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน และการที่ทีมแพทย์มีเวลาเพิ่มขึ้นในการรักษาคนไข้อย่างเหมาะสม
ข้อมูลจาก Commonwealth Fund ซึ่งเป็นมูลนิธิเอกชนในสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมระบบงานสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูง ยังเผยให้เห็นว่า วัคซีนมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้ โดยข้อมูลในเดือน พ.ย. ปี 2021 พบว่า การให้วัคซีนต้านโควิดในสหรัฐฯ ช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ทั้งสิ้น 1.1 ล้านราย และการเข้าโรงพยาบาล 10.3 ล้านราย
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Control and Prevention หรือ ECDC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ประเมินว่า นับแต่เริ่มดำเนินโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ช่วยรักษาชีวิตของคนอายุ 60 ปีขึ้นไปใน 33 ประเทศทั่วยุโรปได้ถึง 470,000 ราย
จะอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างไร
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงนี้เรากำลังพบกรณีคนติดโควิดซ้ำ หรือการติดโควิดทั้งที่ฉีดวัคซีนแล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนี่สามารถอธิบายได้ด้วย 3 ปัจจัย
ปัจจัยแรก เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย นั่นคือการที่ผู้คนจำนวนมากไปรวมตัวกันเฉลิมฉลองในเทศการคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งนี่เพิ่มความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด
ปัจจัยที่สอง คือเป็นเวลาเกือบ 1 ปีมาแล้วนับแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ผู้คน และบรรดาผู้เชี่ยวชาญก็ได้เรียนรู้ว่า ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้ยั่งยืนตลอดไป
นพ. คะฟูรี อธิบายว่า “เมื่อเวลาผ่านไป เราได้เห็นแล้วว่าระดับการปกป้องเริ่มลดลง และการลดลงนี้จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน และอายุของแต่ละบุคคล”
“นี่ตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งอันดับแรกจะต้องฉีดให้แก่คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จากนั้นจึงค่อยให้แก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด”
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ