ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี ชี้หมูแพง อาจวิกฤตถึงขั้นไม่มีหมูกิน ด้าน รมช.เกษตรฯ ยันหมูในระบบมีเพียงพอ ไม่น่ามีหมูขาด แต่มันเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ 2 เดือนสุดท้ายปี 64 ราคาพุ่งพรวด
รายการ โหนกระแส วันที่ 13 มกราคม 2565 เกาะติดสถานการณ์หมูแพง ที่ตอนนี้ราคาไปไกลมาก กระทบทุกหย่อมหญ้า โดยสัมภาษณ์ ภมร ภุมรินทร์ ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร จ.ชลบุรี, คุณพล พีรพล ฤทธิเพชรอัมพร ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด, สพ.ญ.วรวรรณ กิตติศักดิ์ชนะ กรรมการสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด, นัยนา มาทำไม ผู้บริหารร้านย่างเนย 100 สาขา ตอนนี้ลำบากมาก, จงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง มันเกิดอะไรขึ้น และจะฟื้นฟูเรื่องนี้อย่างไร
เจ๊จง เปิดร้านขาหมูมานานหรือยัง ?
เจ๊จง : เกือบ 20 ปีแล้วค่ะ
เคยเจอกรณีหมูแพงขนาดนี้มาก่อนมั้ย ?
เจ๊จง : ไม่เคยเจออะไรที่ขนาดนี้ เชื่อมั้ยเปิดร้านมาวันที่ 3 ทั้งอาทิตย์เครียด จนบอกลูกว่าเราน่าจะหลุดออกจากตรงนี้ไปสักวัน ไม่งั้นตายแน่ ๆ ไม่ใช่แค่เจ๊เครียด ลูกแต่ละคนก็บอกว่าไม่ไหว จริง ๆ เขาร้องกับเจ๊มาตั้งแต่ก่อนปีใหม่แล้วว่าเขาขายแล้วขาดทุนกันนะแม่ เขาใช้คำว่าโปรดพิจารณาด้วยกับการที่จะต้องขึ้นราคาที่ขายอยู่ทุกวันนี้ เพราะเขาไม่ไหวกันจริง ๆ เจ๊ก็บอกว่าไหน ๆ จะปีใหม่แล้ว เจ๊ก็รู้ว่าตอนนั้นก็วิกฤตเหมือนกัน คนที่ลำบากก็เยอะ เจ๊เลยบอกว่าแม่ขอได้มั้ย ขอหลังปีใหม่ แต่ขอปรึกษาผู้ใหญ่ก่อนว่าจะเอายังไงดี เจ๊ก็โทร. หาผู้ใหญ่ว่าขอปรึกษาหน่อยได้มั้ย ตอนนี้ของขึ้นขนาดนี้จะปรับเท่าไหร่
เมื่อก่อนเจ๊เคยซื้อหมูราคาเท่าไหร่ ?
เจ๊จง : 115-125 แล้วก็มา 135 ถ้าเลยจาก 135 เจ๊จะบอกลูกค้าว่าเจ๊ขอปรับนิดนึงนะ เดี๋ยวถ้ามันลงมาต่ำกว่า 135 หรือ 135 เจ๊จะลดให้
อันนี้หมูสามชั้นหรือหมูทั่วไป ?
เจ๊จง : สะโพกหลังที่เจ๊ทอดอยู่นี่แหละค่ะ ถ้า 135 นี่คือติดเพดานที่เจ๊จะไม่มีกำไรเหลือแล้ว จากที่เจ๊ขายราคาตอนที่ยังไม่ขึ้นค่ะ
ล่าสุดซื้อเท่าไหร่ ?
เจ๊จง : ของเจ๊ยังโชคดีที่ยังดึงราคาได้ที่ 155 แต่ตอนนี้ส่งข่าว รอปรับอีก 2 รอบ
เจ๊รู้ใช่มั้ยข้างนอกซื้อกันที่ราคา 200 กว่าบาท แต่เจ๊ได้ในราคา 155 ?
เจ๊จง : 155 เจ๊ก็แย่แล้ว เพราะด้วยราคาที่เจ๊ขาย เจ๊ก็พยายามที่จะดึง สุดท้ายแล้วเจ๊มองว่าพอเจ๊ไม่ไหว หรือคนขายหมูไม่ไหว ก็มาอยู่ที่แม่ค้า แม่ค้าไม่ไหวก็ไปอยู่ที่ลูกค้า เจ๊มองว่าทั้งหมดไปตกอยู่ที่ลูกค้า พอเราเห็นตรงนี้ทำให้เรารู้สึกเครียด เมื่อก่อนเวลาเจ๊จะขึ้น เจ๊ขึ้น 1 บาท 2 บาท เต็มที่แล้ว ต่อที่เจ๊ขาย เจ๊จะมีข้าวราดใส่ถุง ข้าวหมูราดใส่ถุงกับใส่กล่อง แล้วมีหมูเป็นขีด เมื่อก่อนขึ้นทีละบาท อย่างหมูเคยขึ้น 2 บาท ก็เท่ากับโลนึงขึ้น 20 บาท แต่เวลาหมูลงปุ๊บเจ๊ก็ลงเลย แต่ตอนนี้ต้องขึ้นทีละ 3 บาท
ถามทางฝั่งคุณนัย คุณเปิดย่างเนย 100 สาขา เดือดร้อนมั้ย ?
นัย : เหตุการณ์คล้าย ๆ เจ๊จง ตอนช่วงปลายปี เราดำเนินธุรกิจเฟรนไชส์ ลูกค้าเราร่วมร้อยคน ไม่นับลูกค้ารายย่อยที่มาทานที่ร้าน ทุกคนบอกว่ายิ่งขายยิ่งขาดทุน กำไรเหลือน้อยมาก
เมื่อก่อนซื้อหมูเท่าไหร่ ?
นัย : เอาเป็นว่าเพิ่มมา 80 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ พอเริ่มมีข่าวลือก็ค่อย ๆ ขึ้น แล้วผมใช้หมูส่วนที่แพงที่สุดของมัน ใช้สันคอ ต่อสาขา ใช้กันวันละ 40 โล สองพาร์ตรวมกัน ไม่รวมธุรกิจอื่น ๆ อย่าคูณครับ เพราะมันเยอะ(หัวเราะ)
ปัจจุบันสั่งเท่านี้มั้ย ?
นัย : พอประกาศขึ้นราคา มันเซนซิทีฟมาก เราประชุมจะเอายังไงดี สุดท้ายเอาวะ ทุบโต๊ะขึ้นราคากัน พอขึ้นราคา ข่าวโควิดเข้าอีกรอบ ยอดตกเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ คราวนี้จับต้นชนปลายไม่ถูกแล้วว่าเพราะเราขึ้นราคาหรือเพราะโรคโควิดกันแน่ แต่ยอดตกลงชัดเจน
นี่คือปัญหาของผู้ประกอบการ ร้านค้าที่ขายอาหาร มีผลกระทบมาก เจ๊จงถึงขั้นอาจขอหยุดก่อนสักพักเพราะไม่ไหว พี่ภมร ปัญหาที่เกิด มันเกิดอะไร ?
ภมร : ก็โรงงาน เปรียบเหมือนแม่พันธุ์ที่หายไปจากระบบ เป็นโรงงานผลิตลูกออกมา เราคิดว่าเราเกิดวิกฤตครั้งนี้เพราะหมูตายมาก ตายเร็วและรุนแรง ในชลบุรีมีสมาชิกสหกรณ์อยู่ 100 กว่าราย ตอนนี้เลิกไป เหลืออยู่ 74 ราย เฉพาะ 74 รายที่ร้องทุกข์มา แม่หมูประมาณ 2 หมื่นแม่ สามารถผลิตหมูขุนเดือนนึงไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นตัวต่อเดือน หายไปจากระบบเลย พื้นที่ตะวันออกที่จะเอาหมูเข้ากรุงเทพฯ ไม่มีแล้ว ชลบุรีถ้าพูดกันไป ทั้งสมาชิกและพื้นที่ หมูจะเสียหายประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
ฝั่งพี่พล ราชบุรีถือว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดขายหมูเป็นหลัก ผลกระทบเกิดจากอะไร ?
พล : ถ้าย้อนหลังไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่มีโรคระบาดรอบบ้านเรา ทางการเลี้ยงภายในระบบของประเทศก็มีการป้องกัน เพื่อบล็อกไม่ให้โรคเข้าประเทศ หลังความพยายามของทุกภาคส่วน วันนี้กรมปศุสัตว์เขาประกาศแล้วว่าเราตรวจพบโรคนี้ เป็นผลให้เห็นว่าที่ผ่านมา เราอาจประสบโรคนี้หรือไม่ประสบก็ได้ เพราะในวันวาน ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่วันนี้มีการพิสูจน์แล้วว่ามี จากนี้ไป เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมาแล้ว เราต้องหาวิธีป้องกัน แก้ไข
ราคาหมูแพงทุกวันนี้ พี่จะบอกว่าหมูเป็นโรคก่อน โรคอหิวาต์แอฟริกา เกือบ ๆ 3 ปีแล้ว แต่เท่าที่ทราบมีสองแบบ คือหนึ่งผู้ประกอบการแบบรายย่อย จะเลี้ยงแบบฟาร์มเปิด กับอีกหนึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ เลี้ยงแบบปิด จริงเท็จยังไงไม่ทราบ ขอถามเป็นความรู้ พอหมูเขาตายเพราะเป็นโรค เขาไม่กล้าบอก เพราะถ้าบอกจะถูกฆ่าหมูทั้งฟาร์ม เขาเลยปกปิดกันด้วยหรือเปล่า ?
พล : ครับ
เพราะเขาไม่มีเงินลงทุนไปต่อยอดเขา ?
พล : ครับ แล้วที่ผ่านมา วิธีการทำหรือป้องกัน ทุกคนก็ทำดีที่สุดจนมาถึงวันนี้ วันที่เกิดภาวะหมูแพง คนเลี้ยงหมูในอดีตที่ผ่านมา เหมือนเป็นอาชีพที่สังคมไม่เห็นค่า เราจะมาเจอกันเวลาหมูแพง เจ๊จงก็รู้ เวลาหมูถูกคนเลี้ยงหมูขาดทุน เราไม่เจอกันนะ เป็นหน้าที่พวกคุณ แต่เวลาหมูแพง ประชาชนเดือดร้อน คนเลี้ยงหมูต้องออกมา วันนี้การที่หมูแพงจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นมากมาย เกษตรกรต้องขาดทุน เสียหาย บางคนเป็นหนี้เป็นสิน เราก็มุ่งหวังว่ารัฐบาล หน่วยราชการ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ช่วยหาทางออก มาบรรเทา ให้เราผลิตได้เหมือนเดิม เพื่อให้หมูเป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศต่อไป
คุณหมอก็เป็นสัตวแพทย์หญิง กรณีหมูที่เสียชีวิตเรื่องเร่งด่วนมั้ย ต้องทำอะไรยังไงบ้าง ?
สพ.ญ.วรวรรณ : ในมุมมองคิดว่าน่าจะให้นักวิชาการบ้านเรา เรามีหลาย ๆ มหาวิทยาลัย มีนักวิชาการที่เก่งมาก ๆ หลาย ๆ ท่าน ให้มาระดม ว่าเราจะผลิตวัคซีนออกมายังไง อันนี้เป็นทางออกจริง ๆ ของการแก้ปัญหาราคาหมูแพงเลย ถ้าเมืองไทยมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดี และทำให้ลดอัตราการเสียหายลงไปได้จริง ๆ ระบบเศรษฐกิจหมูมันจะกลับคืนมา น่าจะต้องส่งเสริมเรื่องทุนวิจัยลงไปอย่างจริงจัง แล้วให้ภาครัฐเป็นตัวกลาง ทำให้อาจารย์หลาย ๆ ภาคส่วน คนที่เก่งด้านไวรัสวิทยามาเจอกัน แล้วผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
โรค ASF กำลังสร้างความวุ่นวายให้คนเลี้ยงหมูกันมาก อาจารย์มองว่าต้องมีหน่วยงานไหนมาเกี่ยวข้องและผลักดันเรื่องวัคซีนมาดูแล มันมีวัคซีนที่รักษาได้ใช่มั้ย ?
สพ.ญ.วรวรรณ : ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ แต่ในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นน้ำของประเทศเรา อาจารย์หลายๆ ท่านเขาต้องการพัฒนาวัคซีนตัวนี้ให้เกิดขึ้นมาอยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกร แต่เมื่อก่อนเราไม่สามารถเปิดโรคได้ การทำวิจัยไม่สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะใครถือเชื้อไว้เพื่อทำวิจัยมันผิดกฎหมาย แต่ ณ วันนี้ที่เรารับรู้แล้วว่ามีการเปิดโรคแล้ว ฉะนั้นภาครัฐควรควรลงมาส่งเสริมเรื่องการวิจัยวัคซีนตรงนี้ให้เกิดขึ้น แล้วอาจเป็นโอกาสในวิกฤตด้วย ถ้าเราสามารถทำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดีให้เกิดขึ้นได้ เราสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในภาคเลี้ยงหมู เราอาจได้เงินจากต่างประเทศในการขายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทยได้
ปกติหมูในประเทศไทย ปีนึงผลิตได้ประมาณปีละเท่าไหร่ ?
ภมร : แม่พันธุ์ถ้าอยู่ในระบบในประเทศไทยอยู่ประมาณ 1.1 ล้านแม่ ถึง 1.2 ล้านแม่ ผลิตหมูขุนประมาณ 22 ล้านตัว อันนี้คิดกลาง ๆ มันมีข้อเปรียบเทียบว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนเราเกิดปัญหาเรื่องโรคพีอีดีและโรคเพิร์ส แม่หมูจาก 1.2 ล้านแม่ เหลือ 8 แสนแม่ มันทำให้ราคาหมูใน 10 ปีนั้นขึ้นมา 90 บาท ก็ทำบัญญัติไตรยางศ์เลย วันนี้เราคาดการณ์ว่าแม่พันธุ์จะเสียหายแล้วเหลืออยู่ต่ำกว่า 8 แสนแม่ อาจเหลืออยู่สัก 4-5 แสนแม่ ฉะนั้นบัญญัติไตรยางศ์บอกว่า 8 แสน แม่ราคายังอยู่ที่ 90 บาท อันนี้เป็นดีมานต์ ซัพพลาย แต่ถ้าเหลือ 5 แสนแม่ วันนี้ถึงเห็นไงครับ ราคาหมูเป็นอยู่ที่ 110-120 บาท
22 ล้านตัวที่ผ่านมาเหลือประมาณกี่ล้านตัว ?
ภมร : หมูขุนถ้าแม่เหลือ 5 แสน เหลือประมาณ 10 ล้านตัว เพราะแม่พันธุ์เหลือ 5 แสน ผลิตหมูขุนได้ 20 ตัว ต่อแม่ต่อปี ก็เหลือ 10 ล้านตัว หายกันครึ่ง ๆ ครับ บอกคุณหนุ่ม วันนี้แค่เริ่มต้นเท่านั้น
เจ๊จง : ถ้าไม่มีวัคซีนออกมาอย่างนี้ ถ้าคลอดออกมา มันจะตายมั้ยคะ
สพ.ญ.วรวรรณ : วันนี้เราไม่มีแม่พันธุ์ที่จะคลอดด้วยซ้ำค่ะ
เจ๊จง : ตายแล้ว
นัย : อย่างที่รัฐบอกว่าห้ามส่งออกก่อน อันนี้คือได้แค่ชะลอหรือแก้
ภมร : การส่งออก เราไม่ได้ส่งออกตั้งแต่กลางปีที่แล้วแล้ว วันนี้ราคาที่เราเคยส่งออกไปต่างประเทศ เขาถูกกว่าเราแล้ว หมูเป็นเราขึ้นมาร้อยกว่าบาท เขมรวันนี้อยู่ที่ 60-70 บาท เวียดนามอยู่ที่ 60-70 บาท
เจ๊จง : เจ๊ได้เข้าสายคุยกับท่านโฆษกรัฐบาลเมื่อประมาณ 3 วันได้มั้ง ในอีกรายการนึง ท่านบอกว่าคนไทยกินหมูประมาณ 17-18 ล้านตัว ส่งออกปีละ 1 ล้านตัว เขาบอกว่าไม่ให้ส่งออก อาจเอา 1 ล้านตัวมาช่วยได้ เจ๊ก็คิดว่ามันจะช่วยยังไง
มันจะเหลือกี่ตัว ?
ภมร : วันนี้ต้องบอกว่าโรคยังไม่หยุดนะครับ ถ้าหน้าฝนมา กระจายมากกว่านี้อีก
ปัจจุบันเหลือ 10 ล้านตัว แล้วจากนี้ไปในปี 65 ถ้าไม่มีป้องกัน หรือล้อมคอก จะยังไง ?
ภมร : ก็จะเหลือ 5 ล้านตัว หรือ 7 ล้านตัว
หรืออาจไม่มีหมูกินเลย ?
ภมร : ถูกต้องครับ นี่เรื่องใหญ่นะครับ ส่วนเรื่องนำเข้า วันนี้ต้องบอกตรง ๆ ว่าทฤษฎีกับปฏิบัติ ปฏิบัติมีคนเอาเข้ามาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรูปอาหารหมา อาหารแมว หรืออะไรต่าง ๆ ท่าเรือมีอยู่แล้ว เพื่อเอามาขายเป็นตู้อยู่แล้ว
เมื่อ 3 ปีก่อน ผู้ประกอบการต้องลงขันแก้ปัญหากันเองหรือเปล่า ?
ภมร : คือเราป้องกัน เรารู้ว่าการจะต้องช่วยยังไง เพื่อยืดอายุให้นานที่สุด เพื่อฟื้นทุนที่เราเจ๊ง ไม่ว่าจะเรื่องต้นทุนอะไรต่าง ๆ เราพยายามให้มันตายช้าที่สุด ให้นานที่สุด ปี 61 พวกผมรวมกัน ฟาร์มนี้ช่วย 2 หมื่น ฟาร์มนี้ช่วย 3 หมื่น ลงขันกัน ได้เกือบ 100 ล้านนะครับ นี่คือพลังชาวหมูที่คุณคิดว่ากระจอก เอาไปตั้งด่านเพื่อกั้นเขตชายแดน ไม่ว่าหนองคาย มุกดาหาร เชียงราย สระแก้ว 6-7 ที่ ทำนวัตกรรมใหม่หมูที่คุณจะส่งออก ทำลานเพื่อไม่ให้สัมผัสเชื้อ
ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือเหรอ ?
ภมร : กรมปศุสัตว์เขาก็ช่วยเหลืออยู่แล้ว อันนี้ต้องบอกว่าเราร่วมมือกัน แต่ตอนหลังมา มันก็อาจคุยกันคนละเรื่องเดียวกันเลยเกิดความขัดแย้ง จริง ๆ คุณหนุ่มเชิญผมมา ผมไม่อยากมาอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นลูกผู้ชาย ประกาศโรคแล้วก็จบเลย แต่เวลานี้เราคิดว่ามันต้องมาพูดถึงเรื่องการฟื้นฟู ร่วมแรงร่วมใจกัน ทำยังไงถึงจะให้มีผลผลิตใหม่
หลายคนกำลังกังวลใจ โรค ASF ที่ติดในหมู พอตายไปมีการเอาออกมาขาย มันไม่ติดสู่คนใช่มั้ย ?
สพ.ญ.วรวรรณ : ไม่ติดสู่คนค่ะ เป็นโรคที่ไม่ติดจากสัตว์สู่คน ทานปรุงสุกได้ตามปกติ ซึ่งไม่มีปัญหากับคนเลยค่ะ กินสุกเป็นสิ่งที่ดีในตัวหมู เพราะมันไม่ได้มีแค่โรคตัวนี้ มันมีโรคตัวอื่นด้วยที่เราไม่ควรกินดิบ
กรณีนี้เราสามารถสังเกตได้มั้ยว่าหมูที่เขาขายเป็นโรคหรือเปล่า ?
สพ.ญ.วรวรรณ : ถ้าสังเกตจากเนื้อเลยไม่เห็นค่ะ เพราะค่อนข้างเป็นปกติค่ะ
ภมร : โรคนี้เป็นโรคที่ถ้าหมูตายจะเน่าเร็ว คุณสังเกตอย่างเดียว ถ้าหมูเห็น อาจจะ ฉะนั้นพ่อค้าแม่ค้าเขาไม่เอาหมูเหม็นมาขายหรอก ตับไตไส้พุงมันเน่าเร็ว ตายใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ตัวเขียวตัวดำตัวแดง ตับไตไส้พุงมันเน่า ขยายใหญ่ 5 เท่า คุณดูอย่างเดียว ถ้าหมูมีกลิ่นเหม็นไม่ต้องกิน ส่วนเนื้อความอร่อยมันต่างกันอยู่แล้ว
ตอนนี้เข้าใจว่ามีทั้งหมูเป็นโรค หมูไม่ได้เป็นโรค ปศุสัตว์ออกมาประกาศแล้วว่ามีโรคนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยประกาศ ตอนนี้เป็นประเด็นเกิดขึ้น หมูเริ่มแพง มันมีการบล็อกหมูที่ไม่ได้ป่วยด้วย จริงมั้ย ?
ภมร : คือที่ผ่านมา ไม่ว่าสมาคมหรือสหกรณ์เลี้ยงหมูทั่วประเทศ เราพยายามขอร้องว่าพรรคพวกมีหมูเหลือมั้ย เอามาช่วยเพราะเราเห็นใจกำลังบริโภค และเห็นใจรัฐบาลที่ไม่มีหมู นาย ก. นาย ข. บอกเฮียผมมีเหลืออยู่ 100 ตัววันนึงจะได้ อยู่ภาคใต้ ซึ่งเป็นหมูไม่ป่วย เพราะเขารอดตาย เอามาแชร์ให้คนกิน เพื่อทำให้ราคายังอยู่ได้ แต่พอประกาศออกมาแล้วข้อเสียก็เป็นแบบนี้แหละครับ ภาครัฐหรือกรมปศุสัตว์ต้องเครงครัด เช่น ใบขนย้าย คุณก็ต้องมีการตรวจสอบ เอาเลือดไปตรวจว่าคุณปอลด ASF นะ 3 วัน 5 วันถึงจะออก กับภาวะที่ผู้บริโภคไม่มีหมู
จะบอกว่ามีหมูดีที่สามารถปล่อยมาได้ แต่ไม่มีการแยกตรวจ เล่นบล็อกหมดเลย หมูไม่ป่วยก็ถูกบล็อกไปด้วย เกษตรกรเขาก็ลำบาก ?
ภมร : ถูก เขาจะกล้าเอาหมูออกมาเหรอ มันอาจจะโดนก็ได้ การตรวจหมูไม่ได้ตรวจ 100 เปอร์เซ็นต์ มันสุ่มตรวจ
อยู่ในสายกับ “ประภัตร โพธสุธน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอนนี้ปัญหาหมูแพง มีนโยบายยังไงบ้าง ?
ประภัตร : เวลานี้ผู้บริโภคหรือคนเลี้ยงหมูมีประมาณ 1.9 แสนราย เป็นรายย่อยซะ 1.8 แสนราย เป็นรายใหญ่ รายกลางประมาณ 2 พันกว่าราย หมายความว่าผู้เลี้ยง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นรายย่อย รายใหญ่มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนหมูที่เลี้ยงอยู่ในขณะนี้ 19 ล้านตัว เราบริโภคอยู่ตอนนี้ 18 ล้านต่อปี และเหลือหมูที่ส่งออกไป ปี 64 ประมาณล้านตัว ถ้าพูดถึงตัวเลขแล้ว ทั้งหมูเข้า-หมูออกที่เอาไปเชือดกัน ก็ไม่น่ามีหมูขาด แต่มันเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมนี้ หมูกลับขึ้นพรวดไปเลย
เขาอ้างว่าหนึ่งมาจากวัสดุในการทำอาหาร เราไม่พูดถึงว่าหมูที่ขาดขาดไปในตลาด สองหมูที่แพง เกิดจากปริมาณที่หายไปจากโรคบ้าง อะไรบ้าง ที่สมาคมพูดถึงประมาณ 3 ล้านตัว เราก็ต้องแก้ไขตรงนี้ ดังนั้นในส่วนของกระทรวงเกษตร ที่ผมมาภาคอีสาน เราพยายามส่งเสริมรายย่อยให้รีบเลี้ยงหมู โดยมีเงินทุนนายกฯ ให้มา 3 หมื่นล้านมาช่วยกัน สองในระยะสั้น เราก็เข้าใจว่าพี่น้องแบกภาระอยู่ อันนี้ก็เป็นสินค้าควบคุม เราก็ต้องดูว่ากระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการอย่างไร จะมีการนำเข้าได้มั้ยในระยะเร่งด่วน สั้น ๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้เลี้ยงหมู
ขอถามแบบนี้ ตอนนี้มีประเด็นที่ฝั่งผู้ประกอบการบอกว่ามีหมูที่ดีอยู่ แต่ถูกปศุสัตว์บล็อกทิ้งเหมือนกัน ไม่มีการแยกตรวจ ทำให้หมูยิ่งหายจากตลาด ทำให้ถีบราคาขึ้นมาและเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าจะแก้ปัญหาตรงนี้ยังไง ?
ประภัตร : พอหน่วยงานทุกหน่วยงาน ทั้งนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ทุกคนยอมรับกันแล้วว่า มี ASF เราก็สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปแสกนในคอกต่าง ๆ ว่าอันไหนเป็นหรือไม่เป็น ถ้าเป็นก็ต้องใช้ พ.ร.บ.โรคระบาด ถ้าไม่เป็นเราจะไปสั่งเขาไม่ได้ เพราะการสั่งฆ่าได้ต้องมีสั่ง พ.ร.บ.โรคระบาด ก่อน นี่แสกนทั้งประเทศแล้ว ส่วนที่ประชาชนหรือผู้เลี้ยงเขาร้องว่า มีการฆ่าไปก่อน เรากำลังดูอยู่ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เราจะดูแลตรงนี้
พี่ภมรมองยังไง ?
ภมร : ตอนนี้ต้องให้กรมปศุสัตว์ทำงานให้ฉับไวกว่านี้ครับ ให้เร่งเรื่องหมูที่เหลือมาให้ได้ครับ
ประภัตร : เราก็เจอปัญหานี้แล้ว ตอนนี้อยู่อุดรฯ เจอผู้ว่าทั้งหมดของภาคอีสาน ก็เจอปัญหาว่าทำงานล่าช้า เรายอมรับครับ เรามีปศุสัตว์อำเภอเพียงคนเดียว เราจึงตัดสินใจให้กรมเรียกอาสาปศุสัตว์ซึ่งมีประมาณ 3 หมื่นรายให้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหมือน อสม. ออกไปช่วยปศุสัตว์อำเภอทันที มีค่าตอบแทนยังไงเดี๋ยวว่ากัน เพราะเราเห็นใจ วันนี้เราไม่มีเจ้าหน้าที่ ทำงานล่าช้า เรารับอาสาปศุสัตว์เข้าไปทันที
ตอนนี้มีข่าวออกมาว่ามีการปกปิดเรื่องหมูป่วยเพราะมีการเอื้อให้ทางผู้ประกอบการรายใหญ่ในการส่งออก กลัวว่าพวกผู้ประกอบการรายใหญ่หรือฟาร์มปิดต่าง ๆ นานา ส่งออกหมูไม่ได้ เลยมีการปิดบังกันขึ้น จริงหรือเปล่า ?
ประภัตร : ไม่จริงครับ เรื่องนี้เราก็เป็นคนเริ่มต้นออกไปดูและป้องกัน เริ่มจาก จ.เชียงราย ก่อน เราก็ช่วยกันสกัดกั้น เราไม่เคยไปปกป้อง เราไม่รู้จักรายใหญ่เลย เราทำด้วยความจริงใจ และตั้งใจ แต่การที่หมูขาดเพราะเราไปส่งออกเมื่อปี 63-64 ประเทศเพื่อนบ้านหมูขาด เราก็ส่งออกไปทั้งหมด 3 ล้านกว่าตัว มันก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หมูขาด
เคยมีข่าวว่าทางปศุสัตว์ เบิกงบไป 500 ล้าน จริงมั้ยเมื่อกลางปี ?
ประภัตร : ครม. ฯพณฯ ท่านนายกฯ อนุมัติงบกลางให้แล้ว 574 ล้าน เมื่อวันอังคาร เพื่อชดเชยให้พี่น้องเกษตรกรที่โดนทำลายหมูไป ในหลักการคือว่าราคาหมูในตลาดเท่าไหร่ ก็ชดเชย 3 ใน 4 ทั้งหมด 574 ล้าน รวมกันแล้ว 272,000 ตัวในขณะนี้แล้วเริ่มจ่ายในสัปดาห์หน้า
หมูนี่จะแก้ปัญหายังไงต่อไป ปกติหมูในบ้านเรา เหลือ 10 ล้านตัว ปี 65 อาจเหลือ 7 ล้าน ?
ประภัตร : คงไม่ถึงขนาดนั้น วันนี้เราใช้อีมูฟเมนต์ ตลอดทั้งปีเรามีหมูเข้าโรงเชือดทั้งหมด 18 ล้านตัว ส่งออก 1 ล้านตลอดมกราคมยันธันวาคม พอปี 65 หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาเราก็ให้ดูอีมูฟเมนต์อันนี้ ก็มีลูกหมูเข้าไปเลี้ยง 3 แสนกว่าตัว ถ้าเราคูณด้วย 52 ก็ไม่ขาด นอกจากว่าเรามีสต็อกหรือกักตุนกันอยู่ เราคิดทางวิทยาศาสตร์เลย หมูเข้าหมูออกมันพอ แล้วทำไมราคามันขึ้นไป อาหารแพงเราก็รู้แล้ว่านายกฯ สั่งให้ช่วยเหลือเรื่องอาหาร แล้วหมูที่หายไปอยู่ตรงไหน ผมบอกให้กระทรวงพาณิชย์ไปช่วยดูเรื่องกักตุนดีมั้ย อันนี้สำคัญ
ระหว่างท่านรัฐมนตรีพูด ผมเห็นหมอหัวเราะตลอด ?
สพ.ญ.วรวรรณ : หัวเราะที่ว่าตัวเลขที่ท่านพูดว่ายังตามระบบอีมูฟเมนต์ที่ท่านได้พูดถึงว่าเมื่อปีที่แล้ว ตั้งแต่มกราคม-ธันวาคม ปีที่แล้ว มีจำนวนหมูที่พอการเคลื่อนย้ายอยู่ประมาณนั้น ใช่ ถูกต้องค่ะ ยังพอมีประมาณนั้น เดี๋ยวปีนี้ท่านลองตามตัวเลขใหม่ ตัวเลขจากอีมูฟเมนต์จริง ๆ อาจตกเยอะกว่านี้ เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฟาร์มหายไปเยอะแล้ว
ทั้งนี้สามารถติดตามรายการ โหนกระแส โดยมี หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ