กระทรวงแรงงานว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับแน่ แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาทตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอหรือไม่นั้น หรือเป็นเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้ แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด
วันที่ 26 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้าง พร้อมกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป และการสร้างหลักประกันการทำงาน รวมทั้งกรณีอื่น ๆ เช่น เปลี่ยนมาตรการประกันสังคมที่เป็นธรรมแก่คนทำงาน ให้ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้รัฐบาลวางนโยบายในการจ้างงาน พร้อมกับให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น
แบกภาระค่าครองชีพพุ่ง
คสรท. และ สรส. ระบุว่าได้ยืนข้อเสนอดังกล่าวให้รัฐบาลไปเมื่อนที่ 21 ธันวาคม 2564 เพราะค่าจ้างแรงงานของไทยมีราคาต่ำ การทำงานระยะสั้น ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไร้หลักประกัน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ จึงไม่สามารถจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัวได้เพียงพอ
อีกทั้งปัจจุบันราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ได้ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก เช่น หมู ไก่ ไข่ เนื้อ ข้าวสาร น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าพาหนะเดินทาง ค่าทางด่วน และอื่น ๆ เกือบทุกรายการ
นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายสั่งการให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ปรับวิธีการทำงานโดยพนักงาน ลูกจ้าง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ทำงานที่บ้าน (work from home) และให้นักเรียนนักศึกษาเรียนออนไลน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต และอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่บางส่วนถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ อยู่ในภาวะที่เดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้าทั่วประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะเยียวยาช่วยเหลือ แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ๆ
ภาคเกษตรกรรายย่อยก็ต้องเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งราคาผลผลิตเองที่พอจะผลิตขายเลี้ยงชีพได้ราคาก็ตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก จึงฝากความหวังที่เหลืออยู่กับการรอเงินจากสามี ภรรยา ลูก และหลาน ที่เข้ามาขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และบริการในเมือง
ขอค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั้งประเทศ
คสรท. และ สรส. ระบุด้วยว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปรับค่าจ้าง พร้อมกับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป ซึ่งประชาชนต่างรับรู้ทั่วกันดังที่ปรากฏเป็นข่าวทุกวันจนเป็นคำกล่าวว่า “ข้าวของแพงแต่ค่าแรงแสนจะต่ำ”
“เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ข้อเสนอที่จำเป็นต้องทำ คือ การขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยค่าจ้างที่เสนอในปีนี้เป็นตัวเลขและข้อมูลที่ คสรท. ได้ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายจากคนงานในพื้นที่ต่าง ๆ ประมาณ 3,000 คน ครอบคลุมภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ”
ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ประกอบด้วย ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี เป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 492 บาท
ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จำนวนเงินที่คนไทยจะเพียงพอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่ 712 บาทต่อวัน (ข้อมูลปี 2560) แต่ด้วยข้อกังวลในเงื่อนไขและสถานการณ์ต่าง ๆ คสรท. และ สรส. จึงได้ประชุมร่วมกันและเสนอตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในราคาวันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศ และให้รัฐบาลประกาศโครงสร้างค่าจ้างเพื่อสะท้อนการปรับค่าจ้างในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ
รมว.แรงงาน พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 นายสาวิทย์ แก้วหวาน ตัวแทน คสรท. และ สรส. และคณะ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วมด้วย
นายสุชาติกล่าวว่า จากการหารือกับ คสรท. และ สรส. ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างนั้น ได้ให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานไปพิจารณาศึกษาในรายละเอียดถึงการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่ามีความเหมาะสมหรือเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ด้านนายสาวิทย์กล่าวว่า ขอชื่นชมท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และในวันนี้ที่ต้อนรับและได้เปิดโอกาสให้คณะคสรท. และ สรส. เข้าพบ เพื่อรับฟังสภาพปัญหาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความช่วยเหลือตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้แรงงานได้รับความคุ้มครองที่พึงจะได้รับ
ปรับขึ้นแน่ แต่รอตัวเลข
คสรท.สรุปประเด็นการเข้าพบ รมว.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีดังนี้
1. เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมีการยืนยันว่าปรับแน่ แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาทตามที่ คสรท. เสนอหรือไม่นั้น หรือเป็นเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้ แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด
2. สำหรับเรื่องการทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ จะพยายามไปหาแนวทางให้ แล้วจะมีการสั่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการเรื่องโครงสร้างค่าจ้าง เพื่อจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า จากนั้นจะปรับขึ้นโดยอัตโนมัติทุกปี
3. จะสั่งการให้ข้าราชการหาตัวเลขลูกจ้างในภาคราชการทุกกระทรวงทั่วประเทศ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้มีค่าจ้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ซึ่งเรื่องนี้ คสรท. เสนอว่า ลูกจ้างภาครัฐเกือบทั้งหมดเป็นลูกจ้างชั่วคราว เหมางาน แต่ได้ค่าจ้างต่ำ ไม่มีสวัสดิการใด ๆ โดยเมื่อไปเรียกร้องผลักดันหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอ้างว่า ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายแรงงานทุกฉบับ
4. เรื่องการเบิกจ่ายเงินลาคลอดบุตรที่คณะรัฐมนตร (ครม.) มีมติเพิ่มขึ้นจาก 90 วัน เป็น 98 วันนั้น ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมแล้ว และส่งให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า และจะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยสาระคือ สำนักงานประกันสังคมจ่าย 4 วัน นายจ้างจ่าย 4 วัน ส่วนการให้สามีลาช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร 15 วันนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอเวลาไปศึกษา
ข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ