ค้นพบ “ปอยาบเลื้อย” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดตาก
วันที่ 31 มกราคม 2565 นายเสริมพงศ์ นวลงาม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้สำรวจพบพรรณไม้เลื้อย สกุลปอยาบ (Grewia) วงศ์ชบา (Malvaceae) แต่ไม่ทราบชนิด จากป่าในท้องที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 และได้ส่งตัวอย่างไปให้ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาลัยขอนแก่น ช่วยระบุชนิดให้
ปรากฏว่าไม่ตรงกับชนิดใด ต่อมาจึงได้ร่วมกันตีพิมพ์ประกาศให้เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50(1) ค.ศ.2022 ใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Grewia thailandica Chantar. & Nualngam คำระบุชนิด “thailandica” ตั้งตามสถานที่ที่พบพรรณไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรก คือ ประเทศไทย ใช้ชื่อพื้นเมืองว่า ปอยาบเลื้อย ตั้งตามลักษณะวิสัยที่เป็นไม้เลื้อยชนิดเดียวในสกุลนี้ที่พบในประเทศไทย
ปอยาบเลื้อย เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย (endemic species) พบเพียงแห่งเดียวในโลก ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ขึ้นในป่าดิบ ที่ระดับความสูงประมาณ 690 ม. ออกดอกเดือน มีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน
ข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ