กกร.ค้านขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ หวั่นสินค้าแพงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นในปี 65
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผย กรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 492 บาท ว่า ในทุกจังหวัดมีคณะอนุกรรมการค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดอยู่ มีทั้งลูกจ้าง นายจ้าง อยากให้คณะทำงานเรื่องค่าแรงแต่ละจังหวัดหารือกัน เพราะต้นทุนแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน จึงไม่ควรอย่างมากในการปรับรายได้ขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศ
อยากให้ภาครัฐพิจารณาให้ดีเพราะจะกระทบกับราคาสินค้าที่อาจต้องปรับขึ้นอีก หากค่าแรงปรับขึ้นมา แล้วเศรษฐกิจยังแย่อยู่มันก็เหนื่อยนะครับ และไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทั่วประเทศอยู่แล้วครับ
แต่ควรเป็นเรื่องที่ภาคจังหวัดต้องพิจารณา เพราะวันนี้ระหว่างภูเก็ต หรือ กรุงเทพฯ กับ จังหวัดเล็กๆ เช่นชัยภูมิ ก็แตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายรายได้ทุกอย่างมันแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ก็ควรจะเป็นการพิจารณาของคนในพื้นที่
ในส่วนของราคาพลังงาน สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ส่งให้เงินเฟ้อปรับขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทพลังงาน ทั้งก๊าซหุงต้ม ราคาน้ำมัน จึงขอให้ภาครัฐตรึงราคาไว้ก่อน เพราะถึงแม้ว่าภาคเอกชนเองก็พยายามจะตรึง แต่ต้นทุนราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นตลอดเช่นกัน
ส่วนราคาปลีกน้ำมันที่ปรับขึ้น นายสุพันธุ์ มองว่า ต้องควบคุมราคาจำหน่ายให้กับประชาชนให้ได้ เพราะการที่ราคาปรับขึ้นเร็วย่อมเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เบื้องต้นจึงขอให้ตรึงราคาไว้ก่อน จากนั้นจะปรับสูตรน้ำมัน ปรับโครงสร้างภาษี ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ามองอะไรเหมาะสม
สอกคล้องกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับต้นทุนอะไรต่างๆ มันสูงขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะราคาพลังงานกระทบต่อประชาชนแน่นอน กำลังซื้อของประชาชนก็ยังอยู่ในระดับต่ำ หากเพิ่มราคาสินค้ามากเกินไปก็ขายไม่ได้ สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องคุมโควิดให้อยู่ แล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จากนั้นทุกอย่างก็จะค่อยๆ ผ่อนคลาย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังมีหลายปัจจัยในปีนี้ ทั้งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง
ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในหลายมิติ หากสถานการณ์ลุกลามจนส่งผลให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง
รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กกร.จึงปรับตัวเลขเงินเฟ้อ 1.2% ขึ้นมาเป็น 1.5-2.5% ส่วนจีดีพี ยังคงไว้ที่ 3 – 4.5% พร้อมข้อเสนอ คือ
1) ขอความร่วมมือภาคเอกชนในการตรึงราคาสินค้า โดยขอให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบที่มีอยู่เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาออกไปก่อน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
2) ขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ
3) ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงวันที่เดินทางถึงไทย และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน กกร.ขอเข้าไปร่วมในการประชุม ศบค.ที่เป็นตัวกำหนดนโยบายด้วย เพื่อสะท้อนการปรับนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ข่าวจาก : PPTV Online
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ