หมอเตือนเคี้ยว “กระท่อม” แต่พอดี ไม่ไม่เกินวันละ 5 ใบ ไม่ควรกลืนกาก เหตุย่อยยาก อาจเกิดถุงท่อมในท้องทำให้ปวดท้องได้ ย้ำกินมากเกินไปมีโทษ แม้ไม่เป็นยาเสพติดแต่มี กม.ควบคุม ห้ามขายอาหารที่มีส่วนผสมใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์และเด็กต่ำกว่า 18 ปี น้ำกระท่อมต้องขออนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร
จากกรณี “บีม ศรัณยู ประชากริช” ดารา-นักแสดงชื่อดัง ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก “BeamSaranyoo” เคี้ยวใบกระท่อมแล้วขับรถในลักษณะเสี่ยงเกิดอันตราย จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวถูกปรับไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เดิมประเทศไทยจัดให้ “กระท่อม” เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมีการปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2564 ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก ซื้อ ขาย ใบสด ที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลางเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา เพื่อให้มีแรงทำงานได้นานขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน ในคนที่รับประทานใบกระท่อมเป็นครั้งแรก อาจจะมีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน หากใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเมา เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อทรงตัว ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
“ในรายที่ใช้มากๆ หรือใช้มาเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีผิวสีคล้ำและเข้มขึ้น การรับประทานใบกระท่อมไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบโดยรูดก้านใบออกแล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก และไม่ควรกลืนกากเพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก เมื่อรับประทานบ่อยๆ อาจทำให้เกิด “ถุงท่อม” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้องได้” นพ.มานัสกล่าว
ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า ใบกระท่อมมีสารสำคัญ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง คล้ายฝิ่น แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าประมาณ 10 เท่า และ 7-hydroxymitragynine พบน้อยมากในใบกระท่อมสด แต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่ากว่ามอร์ฟีน 100 เท่า
เมื่อรับประทานใบกระท่อมบางรายอาจทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน โดยทำให้ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชัก ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน สับสน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง อาจพบอาการซึมมากในผู้ที่รับประทานใบกระท่อมปริมาณมาก คือ มากกว่า 15 กรัมของใบกระท่อม หรือประมาณใบ 10 ใบ เมื่อหยุดใช้ใบกระท่อมจะทำให้เกิดอาการอยากรุนแรง (Craving) และมีอาการถอน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุก
“แม้ปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด และมีการออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน และยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมาย โดยเฉพาะการนำไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดอื่น เช่น “สี่คูณร้อย” การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก สถานศึกษา รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องขออนุญาตผลิตตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562” นพ.สรายุทธ์กล่าว
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ