หมอเผย ติด ‘โอมิครอน’ หายแล้ว บางส่วนทำกิจวัตรประจำวันตามปกติไม่ได้ เหตุเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าก่อนป่วย แม้ไม่เกิดปอดอักเสบ แนะดูแลตัวเองอย่าให้ติด
วันที่ 10 ก.พ.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ความว่า มีเสียงถามเข้ามากันมากหลายว่า ประเทศไทยใกล้จะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นหรือยัง ถ้าเห็นแนวโน้มการใช้เตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ น่าจะยังไม่ใช่เวลาอันเร็ววันนี้
อย่างไรก็ตามคงต้องเตรียมการกันไว้แต่เนิ่นๆ โดยทุกภาคส่วนจะต้องมีฉันทามติในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ว่านิยามของโรคประจำถิ่นที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยควรเป็นอย่างไร
ตัวเลขที่สำคัญ เช่น ยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ยอดผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหลัก ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง และยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิต จะต้องถูกกำหนดให้ชัดเจนและร่วมกันติดตาม ภาคนโยบายต้องมั่นใจว่าควบคุมสถานการณ์ในทุกด้านได้ดีแล้ว ภาคประชาชนต้องมั่นใจที่จะให้ความร่วมมือ ท้ายสุดภาคการแพทย์ต้องมั่นใจว่าจัดเตรียมศักยภาพไว้เพียงพอโดยไม่เบียดบังการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิด
แม้คนที่ป่วยด้วยโควิดจากโอมิครอน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง แต่จะมีบางส่วนของคนกลุ่มนี้ที่เมื่อหายแล้วยังไม่สามารถมีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เนื่องจากรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิมก่อนป่วย ได้มีการศึกษาในคนอเมริกันจำนวน 10 คนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว โดยติดตามการทำงานของปอดและหัวใจขณะออกกำลังด้วยการขี่จักรยานอยู่กับที่ (cycle ergometer cardiopulmonary exercise testing) พบว่ามีการลดลงอย่างมากของสมรรถภาพการออกกำลังกาย เป็นผลจากเนื้อเยื่อทั่วร่างกายโดยพาะกล้ามเนื้อ ไม่สามารถดึงออกซิเจนไปใช้งานได้ดีเพียงพอ
โดยที่การทำงานของหัวใจยังเป็นปกติ แต่การทำงานของปอดยังมีความบกพร่อง อันเป็นผลการออกแรงหายใจมากเกินควร (exaggerated hyperventilatory response) ทั้งที่ขณะป่วยส่วนใหญ่ไม่เกิดปอดอักเสบโควิดชัดเจน เห็นอย่างนี้แล้วอย่าปล่อยให้ตัวเองและคนที่เรารักติดโควิด ด้วยการระมัดระวังตัวเต็มที่ตามมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะการหมั่นใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ควบคู่ไปกับเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ