ศบค. เคาะเด็ก 6 ขวบขึ้นไป ฉีดซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ส่วนเด็ก 12 ขวบขึ้นไป ฉีดไฟเซอร์ฝาสีม่วง 2 เข็ม จี้หน่วยงานรณรงค์วันวาเลนไทน์ “รักอย่างไรไม่ให้มีโรค”
วันที่ 11 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เปิดเผยภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค.เป็นประธานว่า ทั่วโลกมีการติดเชื้อจำนวน 406 ล้านราย ส่วนใหญ่กำลังอยู่ในขาลง แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น
ส่วนประเทศไทย ติดเชื้อใหม่ 15,242 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 15,060 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 182 ราย ผู้ป่วยสะสม 337,680 ราย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เสียชีวิต 23 ราย หายป่วยกลับบ้าน 8,955 ราย หายป่วยสะสม 258,841 ราย ตั้งแต่ 1 มกราคม ผู้ป่วยกำลังรักษา 111,393 ราย อยู่โรงพยาบาลไม่ถึงครึ่ง อาการหนัก 569 ราย ใส่เครื่องช่วยใจ 113 ราย ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญถ้าทรัพยากรของโรงพยาบาลยังดูแลได้ ก็ยังไม่เป็นประเด็นร้ายแรง เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ได้ไปดูจำนวนผู้ติดเชื้อ ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังและอายุมากกว่า 60 ปี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า
สำหรับ 10 จังหวัดผู้ติดเชื้อสูงสุด ดังนี้ กรุงเทพฯ 3,019 ราย สมุทรปราการ 979 ราย ชลบุรี 785 ราย นนทบุรี 615 ราย ภูเก็ต 412 ราย สมุทรสาคร 347 ราย นครปฐม 318 ราย ราชบุรี 314 ราย ปทุมธานี 302 ราย และนครศรีธรรมราช 297 ราย ทั้งนี้นายกฯ ขอให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในจังหวัดต่าง ๆ เข้าไปควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลง รวมทั้ง 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ซึ่งมีติดเชื้อ 5,435 ราย และ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องเท่องเที่ยวในบางอำเภอ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 3,792 ราย โดยจังหวัดจะต้องช่วยกันเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ขอให้ทุกคนช่วยกันเพื่อทำให้ภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน สธ. ยังเปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อของเด็กอายุ 0-9 ปี และ 10-19 ปี ซึ่งจำนวนสูงขึ้น ต้องพึงระวังและเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม นอกจากนี้ที่ประชุม มีมติให้คงระดับสีในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ไว้ก่อน ขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันลดการติดเชื้อให้มากที่สุด เพื่อคงบรรยากาศพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไม่ให้เปลี่ยนแปลง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการฉีดวัคซีน เน้นให้บริหารฉีดวัคซีนวัยเด็ก เพราะช่วงวัย 5-11 ปีมีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ดำเนินการฉีดวัคซีน 7 กลุ่มโรคร้าย ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2656 ให้บริหารฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษาตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ฉีดให้เด็กป.6 อายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งผลการฉีดวัคซีนเด็กกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 10 กุมภาพันธ์ จำนวน 109,206 ราย จากเด็กทั้งหมดจำนวน 5.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ2.1
อย่างไรก็ตามที่ประชุมพิจารณากรณีที่ผู้ปกครองบางกลุ่มมีความไม่สบายใจที่จะได้รับวัคซีนในกลุ่ม mRNA ขอรับวัคซีนเชื้อตาย หรือซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบสูตรวัคซีนเด็ก ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และไฟเซอร์ฝาสีม่วง 2 เข็ม สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กโตสามารถเลือกได้หลายสูตร ขณะที่ประชุมทั่วไปนั้น การรับเข็มกระตุ้น 3 และ4 ยังเป็นสิ่งจำเป็น
และเพื่อมนุษยธรรมแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการรับและบริจาควัคซีนให้แก่ต่างประเทศ เนื่องจากช่วงที่ประเทศไทยไม่มีวัคซีน หลายประเทศทั้งจีน และฝรั่งเศสก็ได้บริจาคให้ประเทศไทย ทั้งนี้นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งว่า วัคซีนที่บริจาคเพื่อมนุษยธรรมแล้ว อีกด้านคือการนำไปให้ประเทศในกลุ่มแอฟริกา ซึ่งติดเชื้อค่อนข้างมาก แต่ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ โดยได้ประสานไปยังองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพื่อให้การบริจาคนี้ผ่านไปยังโครงการโคแวกซ์
เรื่องที่ 3 การจัดทำข้อตกลง Air Travel Bubble (ATB) ระหว่างไทย-อินเดีย ซึ่งเดิมอินเดีย ระงับเที่ยวบินพานิชย์ระหว่างประเทศ อนุญาตเฉพาะเที่ยวบินอพยพจากประเทศนั้น ๆ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถขนส่งเชิงพานิชย์ได้ นำมาสู่การดำนเนินการเพื่อทำให้การเดินทางสองประเทศเกิดขึ้น ได้ประโยชน์ทั้งการค้าขายและท่องเที่ยว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ผู้อำนวยการ ศบค. มีนโยบายอยากจะให้ประชาชนเข้าถึง ATK ได้สะดวกและมีค่าบริการที่เหมาะสม โดยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอหลักการใช้ ATK ดังนี้ ประชาชนที่มีความกังวลใจก็จะหาซื้อเองและตรวจเอง ซึ่งจะมีราคาแตกต่างกันไป ส่วน ATK ที่ใช้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยแจก ATK ให้ประชาชนตรวจเองผ่านโรงพยาบาลและร้านขายยา ซึ่ง สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ จะมีโรงพยาบาลชุมชน และกลุ่มสาธารณสุขจังหวัด เข้าไปสอบสวนโรค สปสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ATK เช่นกัน และการ RT-PCR ของกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วย สปสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า
นอกจากนี้ เลขาธิการ สปสช. ได้นำเสนอประมาณการตรวจคัดกรอง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป โดยจะประมาณการว่าจะต้องมีการใช้ ATK เท่าไหร่ และราคาต่อหน่วยควรจะปรับเป็นราคาเท่าไหร่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ATK ที่ประชาชนซื้อเองใช้เอง ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป น่าจะใช้ประมาณ 56,000 รายต่อวัน ราคาอาจจะขยับปรับเปลี่ยนจาก 80 บาท เป็น 55 บาท ส่วน ATK สำหรับหน่วยบริการ น่าจะใช้ประมาณ 50,000 รายต่อวัน ราคาอาจจะปรับเปลี่ยนจาก 300 บาท เป็นไม่เกิน 250 บาท ส่วนการ RT-PCR โดยหน่วยบริการ น่าจะมีประมาณ 23,000 รายต่อวัน อาจจะปรับราคาจาก 1,200 บาท 900 บาท ทั้งนี้ที่ประชุมรับทราบว่าขณะนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดทำชุดตรวจสำเร็จขึ้นมาแล้ว แต่มหาวิทยาลัยต้องการความมั่นใจว่าสินค้านวัตกรรมนี้จะได้รับการซื้อและนำไปใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งผู้อำนวยการ ศบค.ยืนยันว่า ถ้าเป็นฝีมือของคนไทย ซึ่งมีความแม่นยำในการตรวจจริง จะให้การสนับสนุนเต็มที่ และมอบให้ สปสช.ไปดำเนินการสนับสนุนต่อไป
โฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า
ที่ประชุมรับทราบรายงานเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test & Go โดยพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชางต่างชาติ ปี 2564-2565 พบว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2564 เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจาก Phuket Sandbox มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 65,670 ราย ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564 ที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test & Go มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 321,752 ราย รวม 427,869 ราย ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้น 5 เท่า และในเดือนกุมภาพันธ์ ที่กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test & Go อีกครั้ง พบว่าในวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 32,7113 ราย ในที่ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสาธารณสุข ก็มั่นใจในระบบนี้พบสมควร นอกจากนี้ ที่ประชุมรับอนุมัติตามที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) เสนอระบบเข้าประเทศอีกระบบหนึ่ง คือ Thailand Pass Hotel & Swab System (TPHS) ซึ่งที่ประชุมเน้นย้ำว่าระบบนี้จะต้องจะเชื่อมโยงกับ Thailand Pass เพื่อให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยได้รับการติดตามและรับทราบผลโดยเร็ว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า
ที่ประชุมรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน รายงานแนวทางการนำแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศที่จะต้องมีการกักตัวก่อนเข้ามาทำงาน โดยที่ประชุมอนุมัติสถานที่กักตัวตามรัฐกำหนด จำนวน 17 แห่ง มี 476 ห้อง รองรับได้ 1,368 คน มีรายละเอียดดังนี้ แรงงานสัญชาติกัมพูชา จ.ศรีสะเกษ มีสถานที่กักตัว 2 แห่ง มี 88 ห้อง รองรับได้ 176 คน จ.สุรินทร์ มีสถานที่กักตัว 2 แห่ง มี 16 ห้อง รองรับได้ 182 คน จ.สระแก้ว มีสถานที่กักตัว 3 แห่ง มี 98 ห้อง รองรับได้ 410 คน จ.ตราด สถานที่กักตัว 4 แห่ง มี 89 ห้อง รองรับได้ 270 คน รวม 11 แห่ง 291 ห้อง รองรับได้ 1,038 คน ส่วนแรงงานสัญชาติเมียนมา จ.เชียงราย มีสถานที่กักตัว 2 แห่ง มี 80 ห้อง รองรับได้ 80 คน จ.ตาก มีสถานที่กักตัว 1 แห่ง มี 30 ห้อง รองรับได้ 120 คน จ.กาญจนบุรี สถานที่กักตัว 1 แห่ง มี 40 ห้อง รองรับได้ 80 คน และ จ.ระนอง มีสถานที่กักตัว 2 แห่ง มี 35 ห้อง รองรับได้ 50 คน รวม 6 แห่ง 185 ห้อง รองรับได้ 330 คน โดยผู้อำนวยการ ศบค.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานประสาน ดำเนินการจัดการแก้ไขให้มีระบบนำเข้าคนงานที่ดี และปลอดภัย เพื่อไม่ให้มีข่าวจับกุมแรงงานลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเป็นรายวัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานการเปิดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จากข้อมูลวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โรงเรียนในสังกัด ศธ.ทั้งหมด 35,554 แห่ง เปิดออนไซต์ 18,582 แห่ง คิดเป็น 52.23% ออนแอร์ 1,470 แห่ง คิดเป็น 4.13% ออนไลน์ 5,813 แห่ง คิดเป็น 16.35% ออนดีมานด์ 3,113 แห่ง คิดเป็น 8.76% และออนแฮนด์ 6,479 แห่ง คิดเป็น 18,22% ทั้งนี้ ศบค.สนับสนุนให้โรงเรียนเปิดเรียนออนไซต์ให้ได้มากที่สุด โดยมีหลักเกณฑ์การเปิดเรียนของสถานศึกษา ดังนี้สถานศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การประเมิน TSC+ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 85% และสถานศึกษาต้องจัดห้องเรียนให้ผู้เรียนมีการเว้นระยะห่างกัน 1.5 เมตร ส่วนแนวปฏิบัติระหว่างปิดภาคเรียน กรณีเปิดเรียนรูปแบบออนไซต์ของให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 ด้วย
โฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า
ส่วนการฉีดวัคซีนครูละบุคลากรทางการศึกษา ภาพรวมครูและบุคลากรทางการศึกษา มี 1,027,269 ราย ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 99.99% ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 79.45% ซึ่งที่ประชุมรับทราบและเร่งสนับสนุนให้ครูรับวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ให้ได้ตามที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบรายงาน 10 จังหวัดสุงสุด ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กอายุ 0-19 ปี จากข้อมูลวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ดังนี้ อันดับ 1 กทม. 227 ราย อันดับ 2 สมุทรปราการ 205 ราย อันดับ 3 ภูเก็ต 102 ราย อันดับ 4 นนทบุรี 92 ราย อันดับ 5 ชลบุรี 71 ราย อันดับ 6 ราชบุรี 64 ราย อันดับ 7 นครราชสีมา 63 ราย อันดับ 8 ขอนแก่น 59 ราย อันดับ 9 อุบลราชธานี 54 ราย และอันดับ 10 สุพรรณบุรี 50 ราย
“สุดท้าย ผู้อำนวยการ ศบค. ฝากขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ทำงานกันอย่างหนัก ขอความร่วมมือเดินหน้าต่อ การ์ดอย่างตก ขอให้ยกการ์ดสูงๆเข้าไว้ ประเทศของเรายังได้รับความเชื่อถือเพราะสามารถดูแลจัดการโควิด-19 ได้ดี และที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ต้องเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่มีการละเว้นหรือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ และขอให้มีการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะวันวาเลนไทน์ ที่ต้องรักอย่างไรไม่ให้มีโควิด จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันรงณรงค์ด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ