เปิดข้อมูลอีกด้าน เมนู “หมึกชอต” น้องไม่เจ็บ จริงหรือ?





อาจารย์เจษฎ์ เปิดข้อมูลอีกด้าน เมนูไวรัล “หมึกชอต” โดนกินแล้วน้องไม่เจ็บ…จริงเหรอ – กินแบบเป็น ๆ แบบนี้ ถือว่าทารุณสัตว์ไหม ??

เรียกได้ว่าเป็นเมนูฮอตฮิตในโลกออนไลน์เลยทีเดียวสำหรับ “หมึกชอต” ที่นำหมึกตัวเล็ก ๆ ตัวเป็น ๆ ลักษณะตัวใส ๆ เสิร์ฟในถ้วยชอตที่มีน้ำจิ้มซีฟู้ด โดยการเอาหัวปลาหมึกคว่ำลงไปในน้ำจิ้ม แล้วก็กัดกิน ซึ่งเรื่องนี้มีคนออกมาระบุว่า พริก จะมีสารแคปไซซิน ทำให้เกิดอาการเผ็ดร้อนหรือแสบร้อน สารนี้มีผลต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ไม่มีผลกับสัตว์ทะเล ถ้าถามว่ามันรู้สึกเจ็บไหม ? หมึกสามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดได้ แต่ไม่มาก เหมือนเจ็บปุ๊บ สมองก็ตายปั๊บ แต่ควรกินหมึกแบบแล่เป็นชิ้น ๆ จะปลอดภัยกว่ากินการทั้งตัว เพราะกินทั้งตัว โดยเอาหัวจุ่มน้ำจิ้มซีฟู้ดต้องระวังไส้กับปากมันด้วย เราไม่รู้เลยว่าเขาล้างมาสะอาดแค่ไหน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า เมนูดังกล่าวถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ หมึกสามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ แถมการกินดิบยังเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ และอาจได้รับพยาธิตัวกลมจนปวดท้องรุนแรงได้

หมึก รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่

หมึกกล้วย หมึกกระดอง หมึกยักษ์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่เรียกว่า เซฟฟาโลป็อด (Cephalopod) ซึ่งพวกมันเป็นสัตว์ที่มีความซับซ้อนสูง จนอาจจะเรียกได้ว่า สูงกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ สัตว์กลุ่มนี้มีคุณสมบัติหลายอย่างที่จัดได้ว่า มันสามารถจะรับรู้ความเจ็บปวดได้ ทั้งจากพฤติกรรมการตอบสนองที่มันแสดงออก และจากระบบการทำงานทางสรีรวิทยาในสมองของมัน

สัตว์กลุ่มเซฟฟาโลป็อด มีทั้งระบบประสาท (nervous system) และตัวรับรู้สัมผัส (sensory receptor) มีตัวรับสัญญาณสารกลุ่มโอปอยด์ (opioid receptor) มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาเกิดขึ้น เมื่อพบกับตัวกระตุ้นที่อันตราย (noxious stimuli) และสามารถมีการตอบสนองที่ลดลง ทั้งที่พบกับตัวกระตุ้นที่อันตรายนั้น ถ้าให้สารพวกยาระงับปวดและยาชาเฉพาะจุด แบบที่ใช้กับสัตว์มีกระดูกสันหลัง สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองทางการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องตนเอง, แสดงออกถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่จะหลบหลีก และสามารถเลือกได้ที่จะหลีกหนีตัวกระตุ้นที่เป็นอันตรายหรือจะทำสิ่งอื่นทดแทน

ดังนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการว่า สัตว์กลุ่มนี้ สามารถรู้สึกเจ็บปวดได้ แต่ความรู้สึกทางอารมณ์อื่น ๆ นั้น เช่น ความกลัว ความเครียด ความกระวนกระวาย ความทุกข์นั้น ไม่สามารถบอกได้

จากการที่พวกหมึกสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้ ทำให้พวกมันได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เหนือกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ เมื่อมีการนำไปทำวิจัยที่ต้องใช้สัตว์ทดลองอีกด้วย (ปกติกฎเกณฑ์เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ทดลองนั้น จะเน้นแต่สัตว์มีกระดูกสันหลัง)

การกินหมึกดิบ ๆ เป็น ๆ มีอันตรายไหม

การกินหมึกดิบ ไม่ต่างกัลการกินอาหารทะเลอื่น ๆ ที่มีอันตรายแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีปนเปื้อน เชื้อแบคทีเรีย หรือพยาธิ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบโลหะหนักหลายชนิดในอาหารทะเล และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นในปลา ปูม้า กั้ง ตั๊กแตน หอยนางรม และปลาหมึก โดยพบว่ามีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งสิ้น

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: