5แบงก์ปล่อยสินเชื่ออุ้มการบินไทย2.5หมื่นล้าน รัฐถือหุ้น40%





5 ธนาคารพร้อมปล่อยสินเชื่อการบินไทยใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลัง ยันให้ภาครัฐคงการถือหุ้นในการบินไทยผ่านหน่วยงานภาครัฐอย่างน้อย40% คาดเซ็นสัญญาสิ้นมีนาคม 65

28 กุมภาพันธ์ 2565 นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า การจัดหาสินเชื่อใหม่ของการบินไทย ปัจจุบันมี 5 สถาบันการเงินเจ้าหนี้ แสดงความจำนงปล่อยสินเชื่อให้การบินไทย 2.5 หมื่นล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นอันเดอร์ไรเตอร์ คาดว่าจะดำเนินการเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้

สำหรับ 5 สถาบันการเงิน ที่ปล่อยสินเชื่อ ดังนี้

  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)

ทั้งนี้ การได้รับสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทยภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ลดลงจากเดิมที่การบินไทยมีความต้องการสินเชื่อใหม่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้จากเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อใหม่จากเจ้าหนี้ภาครัฐ 2.5หมื่นล้านบาท เนื่องจากการบินไทยลดค่าใช้จ่ายต่างๆได้เป็นอย่างดี

“ในขณะนี้ทางกระทรวงการคลังแจ้งแก่การบินไทยว่า รัฐจะไม่ใส่เงินกู้ใหม่เข้ามา แต่อาจจะมีการดำเนินการดำเนินการในเรื่องอื่นๆต่อไปในอนาคต เพื่อให้ภาครัฐยังคงถือหุ้นอยู่ในการบินไทยอย่างน้อย 40% เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการถือหุ้น โดยกระทรวงการคลัง อาจจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง แต่ก็มีธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้นเพิ่มขึ้น”

นายปิยะสวัสดิ์ ระบุอีกว่า ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้การบินไทยด้วยก็สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ รวมไปถึงการดำเนินการปรับโครงสร้างทุนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐก็จะคงการถือหุ้นในการบินไทยได้อย่างน้อย 40% ตามที่กระทรวงการคลังต้องการ

สำหรับเงินที่จากสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ได้รับจาก 5 ธนาคารดังกล่าวหลัก ๆ จะนำมาใช้จ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ออกไป ที่ยังเหลือค้างจ่ายจนถึงปลายปีนี้อีกราว 4 พันกว่าล้านบาท การคืนค่าตั๋วเครื่องบินอีกราว 1 หมื่นล้านบาท และใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะเครดิตไลน์ทางการค้า

อย่างไรก็ตามจากความต้องการสินเชื่อใหม่ที่ลดลง ทำให้การบินไทยต้องเตรียมปรับปรุงแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง โดยปรับลดการหาแหล่งเงินใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท

การปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดย บริษัทฯ จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับต่อไป

ด้าน นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การขอสินเชื่อใหม่จาก 5 ธนาคารดังกล่าว การบินไทยจะใช้อสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศรวมถึงสำนักงานใหญ่ของการบินไทย รวมถึงเครื่องบินที่การบินไทยเป็นเจ้าของ 45 ลำ อะไหล่ มูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน 3 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะกลาง 5-10 ปี

สำหรับผลการดำเนินงานของการบินไทยสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 เดินหน้าหาสินเชื่อใหม่ ปรับโครงสร้างทุน ลดภาระภาครัฐ สร้างรายได้เพิ่มต่อเนื่อง

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564

  • บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท
  • ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%)
  • มีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% สืบเนื่องจากรายได้ จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 161,219 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 48,078 ล้านบาท (23%) หนี้สินรวม 232,470 ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 105,492 ล้านบาท (31.2%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่31 ธันวาคม 2563 จำนวน 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คนในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 และ 2,559 คน ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ

ในขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวัน ในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทฯ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงกว่าร้อยละ 20 จากในเดือนธันวาคม 2564

อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐนำมาตรการ Test & Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

บริษัทฯ จึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้เป็นต้นไป

ในขณะที่สายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทฯ ในช่วงที่การขนส่งผู้โดยสารยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 50 ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา

 

ข้อมูลจาก : nationtv

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: