อดีตนายกฯ “อานันท์” หนุนแก้ ม.112 ชี้จะบริหารประเทศ ใช้ความคิดเก่าไม่ได้





“อานันท์” ชี้คนที่จะบริหารประเทศต้องเป็นคนรุ่นใหม่ จะนำความคิดเก่าๆ มาใช้ไม่ได้แล้ว ผู้ใหญ่หรือคนมีอำนาจต้องทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ติงการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันบางครั้งก็มันปากหลงระเริง หนุนแก้ ม.112 ทำให้โทษเบาลงเหลือโทษทางแพ่ง มีผู้รับผิดชอบชัดเจนไม่ใช่ใครก็ฟ้องได้แกล้งใครก็ได้

วันนี้ (6 มี.ค.) นาย อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูป สภาที่ 3 ถึงคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลควรจะฟังหรือมีทางออกอย่างไร ว่า รัฐบาลต้องมองถึงอนาคตด้วย คนแก่อย่างผมต้องรู้ว่า เวลาของเรามันหมดไปแล้ว ความจริงแล้วคนอย่างรุ่นของผมมันต้องอยู่ข้างนอกเวทีซึ่งเราอาจจะออกความเห็นนอกเวทีได้ แต่คนที่จะบริหารประเทศต้องเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่จะมีอายุเท่าไหร่นั้นก็ตาม แต่จะต้องเป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ จะนำความคิดเก่าๆมาใช้ไม่ได้แล้ว

“อย่างผมมีทั้งลูกมีทั้งหลานและมีทั้งเหลน ลูกของเราก็สอนอย่างหนึ่ง คือมีความเห็นอย่างหนึ่ง หลานอีกอย่างหนึ่ง ส่วนเหลนผม 3 ขวบสามารถพูดโต้กับคุณทวดได้แล้ว เขามีวิธีคิดของเขาโอเคมากเนื่องจาก เขาเป็นเหลนเราจะทำอะไร อาจจะเป็นสิ่งที่น่ารักน่าดูตลอดไป แต่ถ้าเราบอกว่าเด็กคนนี้ทำอะไรขวาง ไปขวางเขาก็ไม่ได้” นายอานันท์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่าคนรุ่นเก่ามองว่าเด็กรุ่นใหม่ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง เรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่สุดโต่งเกินไปหรือไม่ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพ้อฝัน บางกรณีก็มีเหมือนกัน วาทะทำให้หลงระเริงไป มันมันกับการพูดก็เลยอาจจะเลยเถิดไปบ้าง แต่คิดว่านั่นไม่ใช่ของแปลกหรือของเสียหาย แต่มันต้องการความเข้าใจ

“ถ้าเห็นว่าสุดโต่ง เราก็อย่าไปยุ่งกับเรื่องสุดโต่ง เราต้องหาทางประนีประนอมกัน คือต้องคุยกัน แต้ถ้าจะมาตั้งหน้าตั้งตาไม่คุยหรือพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่คุยจะบอกว่าเด็กพวกนี้จะรู้ดีได้อย่างไร มันไม่เคยปกครองประเทศ มาจะพูดอย่างนี้ไม่ได้ หรือถ้าเด็กบอกว่าผู้ใหญ่พวกนี้พูดกันไม่รู้เรื่องเลย ทำอะไรก็ไม่เป็น ก็ไม่ได้อีก ทุกคนมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีก็ต้องคุยกัน

ซึ่งผมเคยพูดว่าผู้ใหญ่ต้องเห็นใจเด็กมากกว่า หรือคุยกันไม่ใช่กันแบบ 50- 50 หลายสิ่งหลายอย่างผู้ใหญ่ต้องให้เด็ก 60 หรือ 70 คนที่มีอำนาจคน ที่มีอายุอยู่ในฐานะที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจได้ง่ายกว่าแต่คนที่ถูกตัดสิทธิต่างๆมาโดยตลอด คนที่เกิดมาในสังคม ที่มีความเดือดร้อนเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เขาเป็นผู้เสียมาตลอดชีวิต” นายอานันท์ กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้ามองถึงปัญหาความขัดแย้งในมาตรา 112 จะมีทางออกอย่างไร นายอานันท์ กล่าวว่า ส่วนตัวของผมไม่มีปัญหาที่จะมีมาตรา 112 แต่อาจต้องมีการปรับปรุงบางอย่าง จะมีการปรับคำพูดนั้นโอเค ผมไม่คิดว่าโดยทั่วไปต่างประเทศหรือหลายประเทศที่เขายังมีกฎหมายข้อนี้ใช้อยู่ เขาไม่ถือว่ามันเป็นอาชญากรรม แต่ส่วนมากเขาจะฟ้องในเรื่องทางแพ่ง หลายประเทศที่ปกครองโดยมีพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือบางประเทศมีแล้วเขาไม่นำมาใช้เลย

แต่ประเทศที่ยังนำมาใช้อยู่ เขาพยายามทำให้โทษเบาลงไป นอกจากนี้ในปัจจุบัน มาตรา 112 ใครฟ้องก็ได้ ผมอยากจะแกล้งคุณ ผมบอกว่าคุณพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วผมไปรายงานตำรวจถ้าตำรวจไม่ทำอะไร ก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจก็ต้องจดบันทึกเอาไว้ เขาก็กลัวว่าถ้าไม่ดำเนินการอะไร ก็อาจจะมีปัญหาของตัวเอง และก็เสนอขึ้นไปเรื่อยจนไปถึงยอดสุด ก็มีการสั่งฟ้อง

“บางกรณีที่สั่งฟ้องนั้นต้องเรียกว่ามันโง่เง่า ตรงนี้คือเรื่องของการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้ากฎหมายนี้จะอยู่ต่อไป ก็ต้องระบุให้ชัดว่าใครเป็นคนที่จะสั่งให้สอบสวนสั่งให้ดำเนินคดีขึ้นสู่ศาลได้ สมมุติอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรียุติธรรม ต้องมีคนรับผิดชอบทางด้านการเมือง

แต่อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบัน อย่าไปแตะต้องสถาบันเลย อย่าไปดึงสถาบันลงมาอยู่กับเรา สถาบันต้องอยู่เหนือกว่ากฎหมายธรรมดาอยู่แล้ว ที่ผ่านมาผมได้ประสบกับชีวิตส่วนตัว สถาบันไม่มายุ่งเรื่องการเมือง ฉะนั้นเมื่อเราอย่าเอาการเมืองเข้าไปสู่ในวัง ต้องยกวังขึ้นมา” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว

ถามถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อตอนรัฐประหารที่ผ่านมาเหมือนกับว่าน่าจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ไปๆมาๆก็อยู่ได้ 8 ปี มีเสียงเรียกร้องให้นายกฯลาออก แต่พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังอยู่มาได้ สะท้อนอะไรถึงสังคมไทย ทั้งที่บริหารงานล้มเหลวมากมาย นายอานันท์ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “เรื่องนี้คุณต้องไปถามนายกฯประยุทธ์เอง”

เมื่อถามอีกว่า บางคนเทียบกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แต่ พล.อ.สุจินดา กลับโดนว่ามาจนถึงทุกวันนี้ นายอานันท์ กล่าวว่า “คุณสุจินดาเขายังมีความละอาย อย่างตอนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเรียกคุณจำลอง ศรีเมือง และ พล.อ.สุจินดา เข้าไปในวัง และท่านทรงขอให้ว่าอย่าสู้รบกันนะ เพราะประชาชนเสียหาย ประชาชนตายไม่มีใครชนะ ท่านพูดแค่นั้นในหลวงไม่ได้บอกว่าให้ลาออก แต่ทั้ง 2 คนก็แสดงความเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ในหลวงท่านไม่ได้ทรงบอกว่าพวกคุณต้องลาออกไป เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่จิตสำนึกของคน”

เมื่อถามว่า เสียงเรียกร้องรัฐบาลก็เยอะ ตามหลักการแล้วถ้าเสียงเรียกร้องมากๆ นายกฯควรจะพิจารณาตัวเองอย่างไร อดีตนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ถ้าดูที่ต่างประเทศ เขาลาออกกันง่ายๆ มีเรื่องอะไรที่บางครั้งไม่ใช่เรื่องที่พิสูจน์ได้ด้วยซ้ำ ในฐานะนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีถ้ามีการกล่าวหาหรือเรียกร้องว่า มีการเกิดความสงสัยอย่างมาก เรื่องของบุคลิกของตัวเองหรือนโยบาย มันก็อยู่ที่ผู้นั้นจะใช้วิจารณญาณ ในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะมีการลาออก

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: