จับตา โอมิครอน สายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” จากฮ่องกง ยอดดับพุ่งติดอันดับโลก





ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ไม่ประมาท จับตา “โอมิครอน” สายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” จากฮ่องกง ทำยอดตายพุ่ง โชคดียังไม่พบในไทย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 10 มีนาคม 65 เกี่ยวกับโอมิครอน “BA.2.2” (B.1.1.529.2.2) จาก “ฮ่องกง” ที่อาจเป็นภัยร้ายในอนาคต

โดยระบุว่า การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง ได้ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” หรือ B.1.1.529.2.2 ที่มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ “S:I1221T” และการกลายพันธุ์ตรงยีน “ORf1a: T4087I” โดยพบมีแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้วเช่นกัน

การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนควรรีบไปฉีด

ที่น่ากังวลคือ จากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับอันดับสองประเทศลัตเวีย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกันคือ 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน ประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ปรากฏว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 บนเกาะฮ่องกงสูงมาก คือ มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7 และ 0.7 ตามลำดับ

กล่าวคือ ที่ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการระบาดของสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2 ทำให้มีแนวโน้มว่าโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นจนทำสถิติสูงที่สุดในโลก

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ

1. BA.2.2 กลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส

ในเบื้องต้นทราบแล้ว BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไป 2 ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ “S:I1221T” และ “ORf1a: T4087I”

2. BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่

3. BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่

4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่

5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ

6. ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก

ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC) รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล.

 

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: