วิจัย ชี้ โอมิครอน อยู่ติดแก้ว สเตนเลส พลาสติก ได้นานถึง 7 วัน เหนือล้ำกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน นั่นคือ การอยู่บนกระดาษทำได้แย่มาก
ตอนนี้โควิดสายพันธุ์โอมิครอน กำลังระบาดไปทั่วโลก จนยอดผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง โดยมีเหตุผลสำคัญคือ สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ติดกันง่ายมาก บวกกับมาตรการภาครัฐไม่มีการล็อกดาวน์อีกต่อไป และให้ทุกคนใช้ชีวิตให้เป็นปกติที่สุด
ล่าสุด วันที่ 12 มีนาคม 2565 เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ของ นพ.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค มีการเปิดเผยผลวิจัยเกี่ยวกับโควิด สายพันธุ์โอมิครอนที่ทีมวิจัยฮ่องกงทำขึ้น หัวข้อ ความเสถียรของไวรัสบนพื้นผิวต่าง ๆ ผลปรากฏว่า
ทันที่ที่ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมกับโอมิครอน ออกนอกร่างกายไปติดยังพื้นผิวต่าง ๆ จะสูญเสียสภาพการติดเชื้อไปในระดับหนึ่งทันที (ประมาณ 10 เท่า) หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของพื้นผิวที่สัมผัสว่า เชื้อจะสามารถอยู่ต่อได้แค่ไหน โดยสายพันธุ์โอมิครอน มีแนวโน้มจะอยู่บนพื้นผิวอย่างน้อย 3 ชนิด คือ สเตนเลส, พลาสติก และแก้ว ยาวนานกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยสามารถอยู่ได้นานถึง 7 วัน ส่วนพื้นผิวกระดาษ จะทำให้ไวรัสเสียสภาพไวกว่า แทบไม่ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวใช้ปริมาณละอองฝอยที่มีขนาด 5 ไมโครลิตร ซึ่งใหญ่กว่าละอองฝอยในธรรมชาติมาก ปริมาณไวรัสที่ใช้ก็ค่อนข้างสูง ฉะนั้นการสูญเสียสภาพของไวรัสประมาณ 10 เท่าหลังเกาะบนพื้นผิว เมื่อเทียบกับละอองฝอยในสภาวะจริงที่มีขนาดเล็กกว่า ก็อาจทำให้ไวรัสของจริงที่ติดออกมาลดลง จนไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัย อาจจะช่วยลดปริมาณที่ปลดปล่อยลงไปได้อีก และการล้างมือบ่อย ๆ ก็ยังจำเป็นอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ไม่ได้เปรียบเทียบไวรัสที่อยู่ในอากาศหรือ aerosol ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่โอมิครอนจะอยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ และอาจจะอธิบายความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสได้ไว รวดเร็ว
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ