อยากเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม 2565 ต้องทำยังไง สามารถย้ายไปใช้สิทธิประกันสังคมที่ไหนได้บ้าง มาเช็กรายชื่อสถานพยาบาลที่ยังเปิดรับผู้ประกันตนก่อนเลย
ในแต่ละปี บางคนอาจย้ายที่พักอาศัย ย้ายสถานที่ทำงาน จึงไม่สะดวกที่จะใช้สิทธิประกันสังคมกับโรงพยาบาลแห่งเดิม สำนักงานประกันสังคมจึงเปิดโอกาสให้เราสามารถทำเรื่องขอเปลี่ยนโรงพยาบาลที่ต้องการใช้สิทธิได้ แต่จะเปลี่ยนได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ดังนั้น หากใครอยากเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม ปี 2565 ลองอ่านรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไปนี้
ข้อควรรู้…เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม 2565
ใครใช้สิทธิเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมได้ ?
- เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39
- ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ จึงสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดอายุความเป็นผู้ประกันตน และกรณีสิ้นสภาพจากความเป็นผู้ประกันตนแล้ว จะยังสามารถใช้สิทธิต่อไปได้อีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพ
เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม 2565 ได้เมื่อไร ?
ตามปกติจะเปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี แต่สามารถยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม เป็นต้นไป
ดังนั้น ผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาล ปี 2565 สามารถยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565
เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมระหว่างปีได้ไหม ?
กรณีที่เรามีเหตุจำเป็น เช่น ย้ายที่พักอาศัย ย้ายสถานที่ทำงานประจำ หรือพิสูจน์ทราบว่าผู้ประกันตนไม่ได้เลือกสถานพยาบาลเอง และไม่ประสงค์จะไปรับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลดังกล่าว สามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลนอกช่วงเวลาที่กำหนดให้เปลี่ยนระหว่างปีได้ คือนอกเหนือจากช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม กรณีเปลี่ยนสถานพยาบาลระหว่างปี ต้องยื่นเรื่องภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ย้ายที่พักอาศัย หรือย้ายสถานที่ทำงานประจำ
เลือกโรงพยาบาลประกันสังคมไหนได้บ้าง ?
ต้องเลือกสถานพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดที่ทำงานอยู่ หรือพักอาศัยอยู่จริง หรือพักอาศัยในเขตจังหวัดรอยต่อเท่านั้น
วิธียื่นเรื่องขอเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม
สามารถดำเนินการย้ายโรงพยาบาลได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ 3 วิธี คือ
1. ยื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคม
โดยดาวน์โหลดแบบการเลือกสถานพยาบาลในการรับบริการทางการแพทย์ (สปส.9-02) (คลิกดาวน์โหลด) กรอกข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำไปยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ
2. เปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
กรณีเคยลงทะเบียนแล้วให้กรอกเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน เพื่อเข้าสู่ระบบ แต่หากยังไม่เคยลงทะเบียนให้ “สมัครสมาชิก” โดยกรอกข้อมูลตามขั้นตอน แล้วล็อกอินเข้าสู่ระบบ
ระบบจะมาที่หน้าตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน ให้เราเลือก “ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล”
กรอกข้อมูลสถานพยาบาลที่ต้องการย้ายสิทธิไป และกดยอมรับข้อตกลง
3. เปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect
เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
- กรณีไปยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคม จะใช้แบบฟอร์ม สปส.9-02 และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- กรณีเปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านระบบออนไลน์ สามารถเปลี่ยนเองได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสาร
กรณีไม่ได้สิทธิในโรงพยาบาลที่เลือกไว้
หากเราเลือกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลหนึ่ง แต่กลับไม่ได้สิทธิในโรงพยาบาลที่เลือกไว้ และมีรายชื่ออยู่ที่โรงพยาบาลอื่นแทน อาจเป็นเพราะโรงพยาบาลที่เราเลือกนั้นรับผู้ประกันตนครบเต็มจำนวนแล้ว หรือโรงพยาบาลแห่งนั้นยังไม่ได้เปิดรับผู้ป่วยประกันสังคม กรณีนี้สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. 1506
เริ่มใช้สิทธิที่โรงพยาบาลใหม่ได้เมื่อไร ?
หลังจากยื่นเรื่องแล้ว เราสามารถใช้สิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ได้ตามเงื่อนไข ดังนี้
- กรณีสำนักงานประกันสังคม รับเอกสารขอเปลี่ยนโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 1 ถึง 15 (ก่อน 16.30 น. ของวันที่ 15) เราจะสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งใหม่ได้ในวันที่ 16 ของเดือนนั้น
- กรณีสำนักงานประกันสังคม รับเอกสารขอเปลี่ยนโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 16 ถึงวันทำการสุดท้ายของเดือน (ก่อน 16.30 น. ของวันสุดท้ายของเดือน) เราจะสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งใหม่ได้ในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป
เช็กรายชื่อโรงพยาบาลประกันสังคม ที่ไหนยังว่างอยู่บ้าง ?
จากข้อมูลเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมประกันสังคม และเปิดรับผู้ประกันตนได้อีกจำนวน 89 แห่ง ดังนี้
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ sso.go.th หรือสายด่วน 1506
หากต้องการใช้สิทธิที่โรงพยาบาลเดิม ทำอย่างไร ?
สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งเดิม ไม่ต้องการย้ายโรงพยาบาล สามารถใช้สิทธิที่โรงพยาบาลเดิมต่อเนื่องได้เลย โดยไม่ต้องทำเรื่องขอเปลี่ยนโรงพยาบาลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สามารถเช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน SSO Connect สามารถตรวจสอบได้ทั้งผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ลองไปเช็กสิทธิประกันสังคมของตัวเองกันดูนะคะ หรือหากสงสัยตรงไหน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. สายด่วน 1506 เพื่อไขข้อข้องใจ
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 17 มีนาคม 2565
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ