“กรณ์” ลงพื้นที่ พญาไท-ดุสิต เดินหน้า “กล้าปลดหนี้” ย้ำพรรคไม่ได้ปล่อยกู้ แต่หาทางแก้หนี้นอกระบบ ลั่นพร้อมเลิกทำการเมือง ถ้า ‘กล้าปลดหนี้’ ผิดกม.
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ร่วมกิจกรรม เดินหน้าดำเนินโครงการ “กล้าปลดหนี้” ให้ความรู้และรับฟังปัญหาหนี้กับประชาชนโดยตรง พร้อมแนะแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่เขตพญาไท และเขตดุสิต โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 50 คน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นหนี้นอกระบบ โดยนายกรณ์ กล่าวว่า ที่มาของโครงการกล้าปลดหนี้ มาจากการลงพื้นที่ในกรุงเทพฯปริมณฑลและต่างจังหวัด ซึ่งปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับชาวบ้านในขณะนี้คือเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ เจอโควิดระบาดหลายรอบ เศรษฐกิจไม่ดี ทำมาค้าขายลำบาก ของแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาคือเรื่องของภาระหนี้สิน ชาวบ้านจำนวนมากโดยเฉพาะคนจนเมือง กู้ยืมจากสถาบันการเงินไม่ได้ ต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบ ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยหนักมาก ไม่มีโอกาสได้คืนเงินต้น หาตอนเช้ามา ตกเย็นก็ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้เกือบทั้งหมด
“ฉะนั้นเรามองว่า เมื่อเราไม่ได้มีอำนาจ ไม่มี ส.ส.ในสภา แต่มองว่า เราน่าจะมีวิธีลดภาระหนี้สินให้กับประชาชนได้ ซึ่งเห็นว่า มีสถาบันการเงินในระบบธนาคาร ที่มีการปล่อยสินเชื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนบางส่วนได้ เพียงแต่ชาวบ้านอาจจะยังเข้าไม่ถึง ไม่มีความรู้ หรือรู้สึกว่าไม่รู้จะเข้าอย่างไร เราเลยทำหน้าที่เป็นตัวประสาน ซึ่งช่วงทดลองเรามีการประสานกับสถาบันการเงิน นำเสนอความเดือนร้อนของชาวบ้านพร้อมสอบถามเงื่อนไขต่างๆว่า สามารถยืดหยุ่นได้หรือไม่ และวันนี้เราก็พร้อมที่จะขยายโอกาสไปในทางกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเดินหน้าโครงการนี้ไปเรื่อยๆ ในชุมชนที่พรรคกล้ามีตัวแทน”
นายกรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ สัมผัสความเดือดร้อน เห็นหลายปัญหาที่มีเพียงแต่อำนาจรัฐเท่านั้น ที่จะแก้ได้ ซึ่งตนอยากที่จะรวบรวมมาฝากให้รัฐบาลนำไปแก้ไข เพราะมีความเชื่อว่า คนที่มาขอให้แก้ปัญหาเป็นคนทำมาหากิน ไม่ได้เป็นหนี้พนัน หรือไปซื้อยาเสพติด จึงเชื่อว่า ทุกคนควรจะมีโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่ หลายคนติดปัญหาเรื่องเครดิตบูโร จากการกู้ยืมเงินของรัฐตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว 20,000 บาท พอเจอปัญหาชีวิต ชำระหนี้ไม่ได้ จากนั้นก็เข้าสู่ระบบธนาคารไม่ได้เลย ต้องปากกัดตีนถีบดิ้นรนสู้ชีวิต คนทำมาหากินต้องมีต้นทุนซื้อของขาย ดูแลลูก ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพราะฉะนั้นเลยอยากจะให้รัฐ กำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน ในการช่วยให้ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ใหม่ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐจะทำได้ หากตนเองมีเครื่องมือรัฐและงบประมาณอยู่ในมือ เชื่อว่าปัญหานี้แก้ได้
“เราไม่ได้ปล่อยกู้เอง แต่ให้ความรู้ ชี้ช่องทาง ช่วยประสานงาน เป็นกำลังใจให้กับชาวบ้าน ในการแก้ปัญหาภาระหนี้สิน ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับชาวบ้านด้วย เชื่อว่าข้อมูล Data นี้ จะสามารถนำไปสู่นโยบายที่เหมาะสม ในการช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้สินให้กับชาวบ้านได้ ซึ่งแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรม จะมีประชาชนเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 40-50 คน บางครั้งเป็นหลักร้อย ทำให้เห็นว่า ความเดือดร้อนอยู่ในวงกว้าง เป็นโครงการที่ชาวบ้านสนใจ ซึ่งเราก็จะเดินหน้าไปเรื่อยๆ แม้เราอาจจะช่วยไม่ได้ในทุกกรณี แต่ก็ยินดีที่จะช่วย เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม” นายกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ ได้ทวิตข้อความถึงโครงการดังกล่าว ว่า “มีหลายคนตั้งคำถามว่า โครงการ #กล้าปลดหนี้ ผิดกฎหมายหรือไม่? ผมขอบอกว่าวันไหนที่การช่วยเหลือและลดภาระหนี้ให้ชาวบ้านเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย วันนั้นผมขอเลิกทำงานการเมือง โครงการนี้เราให้ความรู้และช่วยประสานให้ชาวบ้านมีโอกาสโอนหนี้นอกระบบเข้าไปอยู่ในระบบ จะผิดกฎหมายได้อย่างไร”
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ