ดร.อนันต์เผยสาเหตุ ติดเชื้อโควิดกักตัว 10 วัน คาดไม่แพร่เชื้อแล้ว อาจใช้ไม่ได้ทุกคน แจงตรวจ ATK ยังคงมีประโยชน์
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาและผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana กรณีที่ประชาชนสงสัยถึงการติดเชื้อโควิดจนหายขาด พร้อมกักตัว 10 วันสามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้จริงหรือ
ดร.อนันต์ ระบุว่า “กักตัว 10 วันแล้วถือว่าหายดี ไม่แพร่เชื้อต่อแล้ว อาจจะไม่ได้เป็นจริงสำหรับทุกคน ตัวเลข 10 วันถือเป็น”ค่าเฉลี่ย” ที่ค่า RT-PCR จะอยู่ในช่วงที่สูงกว่า 30 ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า ปริมาณไวรัสจะมีอยู่น้อยและไม่แพร่กระจาย และที่สำคัญ ATK จะตรวจออกมาได้ผลเป็นลบแล้ว”
“แต่ค่าเฉลี่ยไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เพราะจะมีบางคนซึ่งอาจจะเป็นส่วนน้อยที่ค่า RT-PCR อยู่ต่ำกว่า 30 และไปอยู่ในโซนที่ไวรัสยังสามารถแพร่กระจายได้อยู่ ซึ่งค่า ATK ยังเป็นบวกอยู่ ยกตัวอย่างจากกราฟด้านล่างจะเห็นว่า 9 วันหลัง RT-PCR เป็นบวก ค่า Ct เฉลี่ยอยู่ที่ 29 (สำหรับ BA.2) และ ขึ้นไปที่ 32 ในวันที่ 11 แต่ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่มีค่า Ct อยู่ในช่วง 20-25 ถึง 4 คนใน 22 ตัวอย่าง หรือ 18.18% ซึ่งระดับนี้ ATK จะเป็นบวก และมีโอกาสแพร่เชื้อได้อยู่”
“สำหรับคนที่กักตัวครบ 10 วันแล้วเพื่อความสบายใจของตัวเองและคนรอบข้าง ผมยังเชื่อว่า การตรวจเช็กด้วย ATK ยังมีประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการชัดเจนตอนตรวจพบเชื้อ เพราะจากข้อมูลจะเคลียร์ไวรัสได้ช้ากว่ากลุ่มคนที่อาการน้อย เราควรใช้เทคโนโลยีจาก ATK ให้ได้ประโยชน์สูงสุด อย่างกรณีนี้ผมคิดว่าเป็นการเพิ่มความมั่นใจได้ว่าเราจะออกมาใช้ชีวิตได้ปลอดภัยต่อคนรอบข้างมากขึ้นครับ”
ตามข้อมูลผลการวิจัยอัตราการติดเชื้อ BA.1, BA.1.1 และ BA.2 สูงในการฉีดวัคซีน 3 ครั้ง ผลลัพธ์พบการติดเชื้อโอไมครอนทั้งหมด 82 ราย (อุบัติการณ์สะสม 22%) แบ่งระหว่าง BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ผู้เข้าร่วมที่ติดเชื้อเพียง 10% เท่านั้นที่ไม่แสดงอาการ
ซึ่งมีปริมาณไวรัสสูงสุดในวันที่ 3 และไวรัสที่มีชีวิตสามารถตรวจพบได้นานถึง 9 วันหลังจากตัวอย่างแรกที่มี PCR-positive หรือเป็นผลบวก แม้จะเพิ่งฉีดวัคซีนกระตุ้นในบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีน 3 ครั้งก็ตาม อาการของโควิดมีความสัมพันธ์กับปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้น (p<0.0001) แม้อาการจะหายแล้ว ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีระดับ Ct <30 ในวันที่ 9
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการด้านวิชาการฯ มีมติเห็นชอบลดวันกักตัวสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ติดเชื้อโควิด 19 จากกักตัว 7 วัน สังเกตอาการ 3 วัน เหลือกักตัว 5 วัน สังเกตอาการ 5 วัน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้ลดวันกักตัวในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5+5 คือกักตัว 5 วันและสังเกตอาการอีก 5 วัน ขั้นตอนจากนี้ ต้องแจ้งให้ที่ประชุม ศปก.ศบค.รับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยจะเริ่มใช้หลังสงกรานต์นี้
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ