เสนอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ชี้20ปีไม่เก็บสูญ1.6หมื่นล้าน





นักวิชาการ เสนอผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กำหนดนโยบายเร่งเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น นำเงินพัฒนากรุงเทพฯ หลังยังไม่ได้เก็บมา 20 ปี สูญรายได้ 16,000 ล้านบาท

วันที่ 28 เมษายน 2565 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น หรือภาษียาสูบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บหลังกฎหมายให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร จัดเก็บได้ตั้งแต่ปี 2542 ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

ตามมาตรา 25 (5) “ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับยาสูบซึ่งเก็บจากการค้าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยออกข้อบัญญัติจัดเก็บเพิ่มได้ไม่เกินมวนละสิบสตางค์” ทั้งที่องค์การบริหารจังหวัดทั่วประเทศได้มีการจัดเก็บแล้วตั้งแต่ปี 2546 ในอัตราซองละ 1.86 บาท

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นตามสิทธิ์ที่กทม. พึงจะได้รับจะทำให้กทม. มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 720 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน กทม. ต้องขาดรายได้ส่วนนี้ไปถึงประมาณ 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การที่ กทม. ไม่จัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ คือบริษัทบุหรี่ที่ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้

และยังทำให้เกิดช่องว่างให้บริษัทบุหรี่จะนำสินค้ามาพักในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะไม่ถูกเก็บภาษี ก่อนที่ร้านค้าในกรุงเทพฯ จะกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงเพื่อนำขายต่อไป ทำให้รัฐต้องสูญรายได้ และอบจ. ทั่วประเทศก็จะเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมากทม. มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษียาสูบหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการเสนอร่างฯ แก้ไขระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กทม. สามารถออกข้อบัญญัติให้จัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นได้ ไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

จึงอยากฝากไปยังผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดเป็นนโยบายว่า หากได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อนำเงินรายได้ส่วนที่พึงได้นี้ตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ แก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 น้ำท่วม รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการบริการสาธารณสุข

“ผมจะส่งจดหมายพร้อมข้อเสนอแนะเรื่องนี้ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกท่าน และหลังจากทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ทางเครือข่ายควบคุมยาสูบจะขอเข้าพบกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่เพื่อหารือการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ศ.นพ.ประกิต กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: