เสียงสะท้อนวันแรงงาน ของแพง ค่าแรงต่ำ ชีวิตไม่สมดุล ต้องกู้เงินมาใช้จ่าย วอนรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท
วันที่ 1 พ.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปที่ไซต์คนงานก่อสร้างบริเวณ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 65 พบว่าคนงานก่อสร้างส่วนใหญ่ต่างเรียกร้องอยากให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 492 บาท ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง เนื่องจากปัจจุบันนี้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับค่าแรงที่ต่ำ
โดยนายสุริยา ศักดาเดช อายุ 42 ปี หนึ่งในผู้ใช้แรงงานก่อสร้าง ชาว อ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ทุกวันนี้รายได้ของตนและเพื่อนร่วมงานที่ประกอบอาชีพคนงานก่อสร้างค่อนข้างต่ำมาก สวนทางกับสิ่งของอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกอย่าง ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่าย การใช้ชีวิตจึงมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะเงินที่ได้มายังเท่าเดิม แต่การกินการใช้ ต้องใช้เงินซื้อมาด้วยราคาที่แพงขึ้น ขณะที่สินค้าบางอย่างที่ไม่เคยขึ้นราคา ก็ขึ้น เช่น มาม่า ปลากระป๋อง ซึ่งเป็นอาหารแสนประหยัด ที่คนงานมักจะนิยมซื้อมาทำอาหารกินกันในแคมป์คนงาน ตอนนี้ก็ราคาสูงขึ้นทุกอย่าง ประกอบกับค่าน้ำมัน ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าวัสดุก่อสร้างก็พากันขึ้นราคากันหมด
“ค่าจ้างรายวันแทบไม่เหลือเก็บ แค่ใช้ประทังชีวิตไปวันๆ ได้ก็เก่งมากแล้ว หลายคนที่สมาชิกในครอบครัวตกงานก็ขาดรายได้ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากธนาคารบ้าง จากเพื่อนบ้านบ้าง เพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัวให้อยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้” นายสุริยา กล่าว และว่า ได้ข่าวว่าผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ อยากให้รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 492 บาท ซึ่งตนเองก็อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ดูเหมือนรัฐบาลน่าจะทำไม่ได้ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถ้าปรับค่าแรงขึ้นไม่ได้ถึง 492 บาท ก็ขอให้ปรับขึ้นมาสัก 400-450 บาทก็ยังดี แต่ก็ขอให้ไปปรับลดราคาสินค้าอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานก็ได้
ทั้งนี้ขอให้มองแรงงานว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เพราะถ้าไม่มีแรงงานเช่นพวกตน ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีการก่อสร้างถนนหนทาง หรือระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นต่อภาพรวมของประเทศ จึงขอใช้โอกาสเนื่องในวันแรงงานแห่งชาตินี้ ให้ผู้บริหารประเทศได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของแรงงานด้วย
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ