‘อนุทิน’ เล็งเสนอเลิก Thailand Pass คนไทยเข้าประเทศ เหตุเป็นคนไทยมีสิทธิเข้าประเทศอยู่แล้ว แม้จะติดเชื้อก็รักษาตามสิทธิ ต่างชาติคิวต่อไป
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเริ่มลดลง เป็นไปตามคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค หลังผ่านสงกรานต์ไประดับหนึ่ง ถ้าเราสามารถยืนยันได้ว่าการให้ความร่วมมือของประชาชนยังเป็นระดับนี้อยู่ การติดเชื้อ อัตราเสียชีวิต อัตราครองเตียงอาการหนักก็ลดลง ตอนนี้อัตราใช้เตียงอยู่ที่ 20% อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ให้ดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงใช้เครื่องช่วยหายใจก็อยู่ประมาณ 20% สอดคล้องนโยบาย 3พอ คือ หมอพอ เตียงพอ และยาพอ ตอนนี้ก็น่าจะเดินไปสู่แนวทางโรคประจำถิ่น แม้จะยังไม่ประกาศ แต่ก็พยายามเดินหน้า ส่วนอัตราติดเชื้อผู้เดินทางจากต่างประเทศถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศ วันนี้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 ราย ขณะที่ในประเทศ 9 พันกว่าราย ก็จะติดตามถ้ามั่นใจว่าควบคุมได้ ก็จะได้ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น เน้นเรื่องเศรษฐกิจผ่อนคลายมาตรการ เปิดโรงเรียนให้ได้
เมื่อถามว่าเปิดประเทศมา 1 สัปดาห์ แนวโน้มดีขึ้น จะผ่อนคลายมากขึ้นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เราไม่ได้บอกตัวเองว่าสถานการณ์ดีขึ้น มันเป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ ใช้มาตรการต่างๆ แล้ว ผลที่ออกมาทำให้เราควบคุมได้อยู่ในระดับของ 3 พอ ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตทำมาหากินตามปกติมากที่สุด ก็ถือว่าคือแนวทางที่จะดำเนินการ อยู่ในแผนที่ สธ.ตั้งไว้ทุกอย่าง ส่วนการผ่อนคลายระยะต่อไป เนื่องจากขณะนี้ยังมีการตรวจ ATK และใช้ Thailand Pass ในผู้เดินทางเข้าประเทศ ก็อาจจะเสนอยกเลิก Thailand Pass สำหรับคนไทย เพราะคนไทยมีสิทธิเดินทางเข้าประเทศโดยเสรี ต่อให้มีเชื้อก็มีสิทธิได้รับดูแลตามสิทธิสุขภาพ ไม่มีประกันก็ต้องให้เข้า เพราะเป็นคนไทยรักษาได้ตามสิทธิ ส่วนคนต่างชาติก็จะพิจารณาในลำดับต่อไป ต้องค่อยๆ เริ่ม ไม่หักศอก
ถามต่อว่าจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดใน พ.ค.นี้อีกหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า คิดว่าช่วงนี้หัวเลี้ยวหัวต่อ จะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ก็อยู่ที่ ศบค.จะพิจารณา ถ้ามีอยู่และไม่ได้ทำให้เดือดร้อนกับใคร แต่ตรงข้าม เราใช้ในเรื่องการเสริมความปลอดภัยด้านสุขภาพแก่ประชาชน ส่วนการประกาศโรคประจำถิ่นโดยสมบูรณ์ คือ ติดเชื้อรักษาตามปกติ อาการไม่รุนแรง หายาตามร้านขายยาทั่วไป ดำรงชีวิตตามปกติได้ ก็อาจจะไม่จำเป็นแล้ว
ถามว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การประกาศเป็นอำนาจนายกฯ ซึ่งท่านพยายามให้ ศบค.มีส่วนร่วม จะขยายต่อหรือไม่ก็จะผ่าน ศบค. ส่วนกลไกรองรับหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น เรามีความพร้อมด้านสาธารณสุข แต่ก่อนหน้านี้ต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะการเดินทาง การตรวจเชื้อ การติดตามบังคับใช้กฎหมาย การปิดสถานที่ จะให้หมอไปทำหน้าที่เป็นตำรวจไม่ได้ แต่ต้องใช้เจ้าพนักงานที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ