เดินหน้าโรคประจำถิ่น1ก.ค. หากคุมโควิดได้ตามเกณฑ์ ลุ้นถอดแมสก์





“สาธิต” ยันคุม “โควิด” ได้ตามเกณฑ์ จะเดินหน้าเป็นโรคประจำถิ่น 1 ก.ค. ลุ้นถอดหน้ากากขึ้นอยู่กับพื้นที่ เร่งหารือเกณฑ์ใช้ยาโควิดในกลุ่มมีศักยภาพเข้า รพ.เอกชน

วันที่ 6 พ.ค.65 ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กทม. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายภาครัฐ หลังการประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น” มีใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี มีการต่อสู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รพ.เอกชน ในเรื่องของ UCEP COVID ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเดินหน้ามาจนถึงวันนี้ได้ คือ มีอัตราการติดเชื้อลดลง ผู้ป่วยในสถานพยาบาลและผู้เสียชีวิตก็ลดลง ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 คือ ระยะทรงตัว มีแนวโน้มลดลง

“ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าหลัง เม.ย.ตัวเลขติดเชื้อจะสูงขึ้น แต่เทรนด์ขณะนี้ลดลง ตัวเลขในระบบอาจจะยังไม่ตรงกับสถานการณ์จริง ซึ่งไม่ใช่ว่าปิดบังตัวเลข แต่อาจมีผู้ที่ไม่ได้รายงานเข้ามา เช่น ตรวจ ATK ผลบวกแต่ไม่ได้รายงานเข้าระบบ บางส่วนแยกไปรักษาเองโดยไม่ได้บอก สำหรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น เรามีการประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ หากทำได้ตามหลักเกณฑ์ก็น่าจะพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเป้าหมายคือช่วงวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ทางองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศชัดเจนเรื่องโรคประจำถิ่น และยังกังวลถึงโอกาสการกลายพันธุ์ แต่การติดตามการกลายพันธุ์ขณะนี้ยังไม่พบที่น่ากังวล” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า กรณีโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งพบว่าเรามีจุดแข็งหลายเรื่อง เช่น ผู้บริหารระดับสูงมีนโยบายสนับสนุน ระบบสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนะนั้นถือเป็นทิศทางและนโยบายด้านสุขภาพที่พัฒนาเพื่อเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น (Post-Pandemic COVID 19)

ได้แก่ 1.เพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาเรามีทั้งไทยชนะ หมอชนะ อย่าง “หมอพร้อม” ก็เป็นแพลตฟอร์มใหญ่อันดับ 2 ของประเทศรองจากเป๋าตัง มีข้อมูลมากกว่า 25 ล้านการลงทะเบียน นอกจากนี้ ครม.กำลังหารือทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ ภายใต้กรอบวงเงินที่อนุมัติแล้ว 7 พันล้านบาท เพื่อทำข้อมูลกลาง ซึ่งต้องมีความปลอดภัยควบคู่ เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

2.การเตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไปและพัฒนาบุคลากรสหสาขา ทั้งโรคปกติทั่วไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภาวะลองโควิดและมิสซี 3.การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการรักษาตามสิทธิ 4.ยกระดับการพึ่งพาตนเองด้านยา วัคซีน ชุดตรวจ และเวชภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ไทยมีวัคซีน 3 ตัวที่ก้าวหน้าคือ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนใบยา และวัคซีนของจุฬาฯ แต่อาจจะนำมาใช้ไม่ทันในโควิดครั้งนี้ แต่ในอนาคตจะเป็นความมั่นคง เพราะผลิตได้เอง ไม่ต้องไปซื้อวัคซีนเหมือนที่ผ่านมา

5.การจัดการขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการปลดล็อกกฎหมาย ทั้งประกาศกรมอนามัย ประกาศกรมอุตสาหกรรม เพื่อให้เตาเผาขยะนิคมอุตสาหกรรมสามารถใช้เผาขยะติดเชื้อได้ชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาไม่มีแหล่งกำจัด ท้องถิ่นจึงไม่จัดเก็บขยะติดเชื้อ ทำให้ต้องทิ้งขยะติดเชื้อ เช่น ชุดตรวจ ATK หน้ากากอนามัย ในถุงขยะทั่วไป ก็ต้องสร้างความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการขยะติดเชื้อ

6.พัฒนากลยุทธ์การบูรณาการข้อมูล ซึ่ง ศบค.มีการรวบรวมข้อมูลหน่วยงานต่างๆ มาสู่การตัดสินใจแต่อาจมีเรื่องความล่าช้า ไม่ทันใจภาคเอกชน แต่จำเป็นที่รัฐจะต้องพิจารณาจากข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อตัดสินใจเดินหน้าในเรื่องต่างๆ ได้ และ 7.การค้นหา บันทึก และเผยแพร่ตัวอย่างที่ดี รวมทั้งบทเรียนสำคัญในการจัดการกับภาวะระบาดใหญ่

“เมื่อโควิดก้าวสู่โรคประจำถิ่น จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างงาน และประเทศจะมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น สำหรับการใช้ยารักษาผู้ป่วยอยู่ระหว่างการหารือว่าจะให้ภาคเอกชนดำเนินการได้เองในกลุ่มคนที่มีศักยภาพถือเป็นทางเลือก ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ เช่น ถอดหน้ากากอนามัยนั้น การผ่อนคลายมาตรการขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์ แต่ในบางประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการ ก็มีทั้งที่ถอดหน้ากากและยังใส่หน้ากากอยู่ หัวใจสำคัญคือต้องก้าวข้าม อยู่กับโควิดอย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และเดินหน้าเศรษฐกิจให้ได้” นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ใน รพ.เอกชนมีไม่มาก ผู้ป่วยสีเหลืองและแดงจำนวนไม่มาก เตียงมีเพียงพอ เนื่องจากช่วงหลังโควิดในคนหนุ่มสาวจะกักตัวอยู่บ้านมากกว่า ส่วนประเทศไทยพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้วหรือไม่ ต้องติดตามดูสักระยะ สิ่งสำคัญคือ คนยังฉีดบูสเตอร์ไม่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีน ส่วนการนำเข้ายามารักษาโดยเอกชน เนื่องจากโควิด-19 ยังเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐต่างๆ ยังต้องรับผิดชอบ ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดต้องเป็นไปตามเกณฑ์ แต่บางคนต้องการได้ยาเร็ว จึงกำลังหากลไกอยู่ เพราะบางคนกลัว ซึ่งประเทศไทยนำเข้ายาราคาต่อคอร์สจะสูง เช่น โมลนูพิราเวียร์ 10,000 บาทต่อคอร์ส แต่ลาวได้รับสิทธิราคา 800 บาทต่อคอร์ส ต่างกันมาก จึงอยู่ระหว่างการหากลไก

“ขณะนี้ รพ.เอกชน มียารักษาโควิด คือ ฟาวิพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ คอร์สละประมาณ 1,500 บาท ส่วนโมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด ในอนาคตกำลังหาเกณฑ์ โดยบริษัทนำเข้ายากำลังพยายามขายให้เอกชน แต่ถ้าเอกชนใช้ลงไปต้องมีเกณฑ์ชัดเจน มิเช่นนั้นอาจจะถูกสังคมตำหนิได้ เพราะยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น จึงเป็นสิ่งที่เอกชนระวังอยู่” นพ.เฉลิม กล่าว

นพ.เฉลิม กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก เพียงยาฟาวิพิราเวียร์และเรมเดซิเวียร์ก็เอาอยู่ แต่ขอให้ไปพบแพทย์เร็ว อย่าช้าจนอาการสีเหลืองแล้วลงปอด และบางคนไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น สิ่งสำคัญสุดของการเป็นโรคประจำถิ่นคืออัตราการฉีดวีคซีนเข็มกระตุ้น

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: