นายกฯ ยันแรงงาน-ลูกจ้าง ถูกเลิกจ้างเพราะติดโควิด มีสิทธิได้รับค่าชดเชย





นายกฯ ย้ำดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโควิด-19 ยันแรงงาน-ลูกจ้าง ถูกเลิกจ้างเพราะติดโควิด มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สิทธิประโยชน์ ต้องได้รับความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 18 พ.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ย้ำทุกภาคส่วนดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกกลุ่ม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ ต้องได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะแรงงาน ลูกจ้าง ในสถานประกอบการ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถร่วมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

โดยกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่ากรณีหากนายจ้างสงสัยว่า ลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และสั่งให้ลูกจ้างกักตัว ในที่พักอาศัยเพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ไม่ใช่การขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ โดยนายจ้างสามารถตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือหยุดพักผ่อนประจำปีได้

รวมไปถึงสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้ ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือหากสงสัยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

นายธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยวันนี้ (18 พฤษภาคม 2565) พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวม 5,633 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 5,632 ราย และ ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย รวมผู้ป่วย สะสม 2,165,175 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)

ขณะที่หายป่วยกลับบ้าน 8,042 ราย รวมหายป่วยสะสม 2,129,638 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 60,883 ราย และเสียชีวิต 45 รายทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,160 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 15 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 15.6

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: