(20 มิถุนายน 2565) ข่าวช่องวัน รายงานบทสัมภาษณ์ เจ้าของร้านดารุมะ สาขาสายไหม เปิดเผยว่า ตนเองเป็นลูกค้าประจำ เพิ่งจะซื้อแฟรนไชส์มาเปิดได้ 3 เดือน ในราคา 2 ล้านบาท ซึ่งก่อนถูกลอยแพ ที่ร้านมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบไม่เพียงพอ และตั้งแต่เปิดมายังไม่เคยได้กำไรเลย ตอนนี้รู้สึกมืดแปดด้าน ร้านไปต่อไม่ได้ ลูกน้องกว่าสิบชีวิตต้องตกงาน นอกจากเสียเงินไปแล้วยังเสี่ยงกลายเป็นผู้ต้องหาด้วย ในประเด็นเรื่องขายคูปอง 199 บาท ทั้งที่ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธได้
เจ้าของร้านสาขาสายไหม ระบุอีกว่า แฟรนไชส์ดารุมะ มีข้อตกลงแปลก ๆ เรื่องหนึ่งคือ เจ้าของร้านหรือผู้จัดการ ไม่มีสิทธิดูแลเรื่องรายได้ ไม่ต้องทำอะไร เพราะเจ้าของแฟรนไชส์จะเป็นคนดูแลทั้งหมด ในทุกวันทุก ๆ สาขาจะต้องโอนเงินที่ขายได้ทั้งหมดไปให้เจ้าของแฟรนไชส์ โดยที่แต่ละสาขาไม่รู้รายได้ จากนั้นเจ้าของแฟรนไชส์จะโอนเงินกลับมาให้ทุกเดือน คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งหมด หรือประมาณเดือนละแสนกว่าบาทเท่านั้น
ด้านเจ้าของร้านสาขาวัชรพล เล่าทั้งน้ำตาว่า ใช้เงินเก็บทั้งหมดรวมกับที่หยิบยืมคนรู้จักมาซื้อแฟรนไชส์ 2.5 ล้าน หลังจากเจ้าของแฟรนไชส์อ้างว่าค่าแฟรนไชส์ขึ้นจาก 2 ล้าน แต่ร้านเพิ่งจะตกแต่งเสร็จเมื่อวันเสาร์ ที่ผ่านมา ยังไม่ได้เปิดก็ถูกลอยแพแล้ว ตนเองเสียใจมาก อยากให้เจ้าของแฟรนไชส์กลับมารับผิดชอบ
เบื้องต้น นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ เจ้าของเพจเฟซบุ๊กสายไหมต้องรอด ได้พาทั้งคู่แจ้งความไว้แล้วที่กองปราบปราม และจะพาไปร้องเรียนต่อที่กระทรวงยุติธรรม ปปง. เพื่อให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของ เจ้าของเเฟรนไชส์ต่อไป
ตำรวจยืนยัน เจ้าของดารุมะ หนีออกนอกประเทศไปแล้ว
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า พ.ต.อ. ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบร้านดารุมะ สาขาเดอะแจส รามอินทรา ซึ่งพบว่าร้านก็ปิดเช่นกัน และจากการสอบถามเจ้าของพื้นที่เปิดเผยว่า ร้านได้ค้างค่าเช่าอยู่ 2 เดือน ร้านเปิดให้บริการวันสุดท้ายคือวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โดย พ.ต.อ. ประทีป กล่าวว่า พฤติกรรมของเจ้าของแฟรนไชส์ ส่อเจตนาฉ้อโกง เนื่องจากรู้ตัวอยู่แล้วว่าธุรกิจไม่ดี แต่ยังจัดโปรโมชั่น พอได้เงินก็หนีไป ซึ่งมีการออกหนังสือเรียกนายเมธา ชลิงสุข เจ้าของแฟรนไชส์ มาให้ข้อมูลแล้ว แต่ติดต่อไม่ได้ และได้รับการยืนยันจากตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ว่าได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว
ทั้งนี้ มีผู้เสียหายแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ลูกค้าที่ซื้อคูปอง, พนักงาน, แฟรนไชส์แต่ละสาขา, ซัพพลายเออร์ และเจ้าของสถานที่ ส่วนกลุ่มผู้ค้าที่กดคูปองมาขายต่ออีกครั้ง ตามนิติกรรมสัญญาจะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบโดยตรง เพราะคือคนที่กดคูปองมาขาย แต่เรื่องนี้ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์รู้เห็นหรือไม่ และเส้นทางการเงิน หรือการซื้อคูปองนั้น เงินเข้าบริษัทโดยตรง หรือผ่านสาขา
เบื้องต้น สำหรับกรณีการซื้อคูปองทางแอปพลิเคชั่น ขอให้ผู้เสียหายปริ้นเอกสารไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ และขอเตือนให้สังเกตเวลาร้านจัดโปรโมชั่นควรดูให้ดี ว่าถ้าราคาถูกเกินไปหรือไม่ ต้องดูให้ดี
ข้อมูลจาก :kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ