เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 มิถุนายน ที่ชั้น 18 สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ถนนรางน้ำ กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. และคณะ ร่วมประชุมกับนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.), น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และคณะผู้บริการ เพื่อหารือความร่วมมือด้านบริการดิจิทัลภาครัฐ
นายชัชชาติกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของ กทม.คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน เพิ่มความโปร่งใส ลดขั้นตอนของระบบราชการ วิธีที่ดีที่สุดคือทำกระบวนการต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ลดการใช้ดุลพินิจของบุคคล พยายามเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้น จะทำให้การบริการประชาชนดีขึ้น
“เริ่มต้นด้วยการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ทาง สพร. มีเว็บไซต์ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลให้ประชาชนมาหาข้อมูลตรงนี้ได้ โดยวันนี้จะนำข้อมูลงบประมาณประจำปี 2566 ขึ้นเว็บไซต์ และจะลิงก์ไปยังเว็บไซต์ของ สพร. เพื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลด้านงบประมาณ พร้อมกับการเปิดเผยสัญญาที่เปิดเผยได้ (Open Contract) เพื่อสร้างความโปร่งใส อีกทั้งทาง ก.พ.ร.มีแอพพลิเคชั่นที่ประชาชนสามารถให้ความเห็น มีการถก พูดคุย มีการโหวตในเรื่องต่างๆ ได้ ทำให้กระบวนการตัดสินใจโปร่งใสเปิดเผยมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า จะมีโครงการประกวดประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนของหน่วยงาน กทม. รวมไปถึงทาง ก.พ.ร.มีโครงการดูเรื่องขยะที่ลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทาง กทม.จะไปร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญที่ใช้งบประมาณไม่เยอะ แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการขอใบอนุญาต ถ้าสามารถทำให้เป็นจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) หรือมี Super License เช่น ถ้าสามารถขอใบอนุญาตเปิดร้านอาหาร ที่มีใบอนุญาตหลายใบ ขอจบในที่เดียวได้ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือคนทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น เพิ่มความโปร่งใส และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
“หลายอย่างสามารถทำได้เลย และจะมีการพบปะทุกเดือน เพื่ออัพเดตติดตามความก้าวหน้าต่างๆ หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างการขอใบอนุญาตมีขั้นตอนมีรายละเอียดเยอะ เพราะต้องมีการตรวจสอบ ระยะเว้นระยะร่นพื้นที่ของอาคาร แล้วมีกฎหมายเดิมที่ต้องส่งแบบพิมพ์เขียว 7 ชุด ถ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นดิจิทัล เราสามารถนำดิจิทัลฟอร์แมตมาตรวจสอบระยะเว้นระยะร่นพื้นที่ อาจจะไม่ต้องไปเดิน ส่งทีเดียวพอ และขอข้อมูลเพิ่มเติมทางออนไลน์ เหมือนยื่นภาษีทางออนไลน์ ถือเป็นตัวที่มีความท้าทาย แต่คิดว่าเราน่าจะทำได้ภายใน 1-2 ปีก็น่าจะเห็นความคืบหน้า” นายชัชชาติระบุ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ระบบ One Stop Service จะเปิดบริการเร็วที่สุดได้เมื่อไหร่?
นายชัชชาติเผยว่า ปลายปีนี้สามารถเปิดบริการได้บางตัว ตอนนี้ได้ 5 ตัว เดือนธันวาคมนี้จะเพิ่มเรื่องการก่อสร้าง แต่ต้องทดสอบระบบให้ดีก่อน ส่วนการลงทุนไม่ได้ใช้เงินเยอะ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิด และที่จะมีผลมากคือ การทำฐานดิจิทัล ข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีความครอบคลุม ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีเพิ่ม แต่เป็นการเก็บภาษีให้ครบถ้วนให้มากขึ้น
“ต่อจากนี้ต้องเก็บข้อมูลเป็นรูปแบบดิจิทัล หลายครั้งเป็นการเปิดเผยข้อมูลแบบไฟล์ PDF ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ จากนี้จะเปิดเผยข้อมูลแบบ CSV ไม่ใช่ว่าเราทำเป็นคนแรก แต่เราให้ความสำคัญและเพิ่มฐานข้อมูลมากขึ้น รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้าง” นายชัชชาติกล่าว
ด้านนายสุพจน์ ผู้อำนวยการ สพร. กล่าวว่า ข้อมูลที่นำมาเปิดเผย ประชาชนสามารถนำไปประมวลผลและใช้ประโยชน์ต่อได้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมติดตามโครงการต่างๆ ของ กทม.ได้ พร้อมกับการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น
ต่อมา เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ประชาชน กทม.ในการตรวจสอบเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ ผ่านแอพพ์ “ทางรัฐ” ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันมีระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ซึ่งช่วยให้การขอใบอนุญาตต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ รวมถึงการขอใบอนุญาตการก่อสร้าง ทำให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณา
นายสุพจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อมา “การทำดิจิทัลทรานสคริปต์โรงเรียนในสังกัด กทม.” รวมถึง “ศูนย์ฝึกอาชีพ” คนที่เรียนจบแล้วจะได้ “ดิจิทัลทรานสคริปต์ฎ ไปสมัครงาน หรือสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัย จะได้รับความสะดวก ไม่ถูกปลอมแปลง สุดท้ายการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรของ กทม. อาจจะมีการจัดแคมป์ร่วมกันพัฒนาอาสาสมัครเทคโนโลยีดิจิทัลของ กทม. เพื่อเข้าไปช่วยคนในชุมชนสามารถใช้เทคโนโลยี ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของภาครัฐ รวมถึงมีแหล่งเรียนรู้ให้กับข้าราชการ กทม. เข้ามาพัฒนาทักษะดิจิทัลได้
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ