เมื่อเวลา 08.05 น. วันที่ 25 มิ.ย. 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” เรื่อง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านทาง FM92.5 MHz และเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย RADIO THAILAND ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ออกมาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ
เพราะข้อมูลต่างๆ ในปัจจุบันของทุกคน ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ ทำบัตรเครดิต ทำธุรกิจต่างๆ เปิดบัญชีธนาคาร ที่เราให้ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รสนิยมพฤติกรรมความชอบ ความเชื่อ ถือเป็นข้อมูลส่วนตัว จึงต้องออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลเหล่านี้ ไม่ให้องค์กร ร้านค้าธุรกิจต่างๆ นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางมิชอบ ทำให้เราเสียหาย เดือดร้อน รำคาญ กฎหมายจึงออกมาคุ้มครองข้อมูลของประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล ไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดความเสียหาย
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ สร้างความเชื่อมั่นว่าหากเราไปทำธุรกรรม ธุรกิจกับใคร แล้วต้องให้ข้อมูล ก็ต้องมั่นใจว่าจะต้องได้รับการเก็บข้อมูลเป็นอย่างดี ไม่รั่วไหล ซึ่งความเชื่อมั่นจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำธุรกิจกัน เศรษฐกิจก็จะเติบโต และทุกวันนี้กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายสากลที่ทุกประเทศใช้ติดต่อสื่อสารกัน สร้างการค้าการลงทุนร่วมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเติบโต เพราะวันนี้ข้อมูลอยู่ในโลกออนไลน์ ระบบคอมพิวเตอร์เยอะมาก หากไม่มีกฎหมายคุ้มครองเราก็ทำงานกันยาก
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องรูปถ่ายจะขัดกฎหมายหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะโดยหลักการก็ต้องขอความยินยอมก่อน ถ้ารูปออกไปแล้วเจ้าของรูปเสียหายหรือเขาไม่เห็นด้วยก็อาจจะถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมาย PDPA และกฎหมายหมิ่นประมาท ยิ่งถ้าเป็นดาราก็จะโดนกฎหมายลิขสิทธิ์ ดังนั้น โดยหลักการของการนำรูปคนอื่นไปโพสต์ก็ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการถ่ายรูปแล้วติดโดยไม่ตั้งใจ และไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า เป็นการโพสต์ดูกันในครอบครัวก็ไม่ขัดกฎหมาย PDPA
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า เพราะกฎหมาย PDPA เว้นอยู่ 3 เรื่อง คือ ใช้เป็นเรื่องส่วนตัว ภายในครอบครัว แชร์ข้อมูลกันเอง , งานสื่อสารมวลชน การนำเสนอข่าว เพราะถือว่านักข่าวทำตามจรรยาบรรณตามมาตรฐานวิชาชีพอยู่แล้ว , งานความมั่นคง การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี งานที่มีอำนาจรองรับให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้านความมั่นคง การรักษาความปลอดภัยในระบบต่างๆ ที่จะต้องหาข้อมูลคนร้าย ถือเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโดยหลักการ ไม่มีเจตนานำข้อมูลส่วนบุคคลหรือรูปภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ไปเปิดเผย ก็ไม่มีความผิดอยู่แล้ว
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ประกอบการที่มีข้อมูลของลูกค้าหรือผู้มาติดต่อ หรือบริษัทที่มีข้อมูลของผู้มาสมัครงาน หรือแม้แต่พรรคการเมืองเองก็จะมีข้อมูลของคนที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเก็บให้ดี ไม่ให้รั่วไหล และคนที่จะเปิดดูข้อมูลได้ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน หากข้อมูลรั่วไหลออกไปจะเป็นความผิด ถูกดำเนินคดีถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้นจะต้องมีระบบป้องกันให้ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดทำระบบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะออกระเบียบและประกาศไว้
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า องค์กรขนาดใหญ่ก็จะยุ่งยากขึ้นมาหน่อย เช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทประกันภัย ร้านค้าออนไลน์รายใหญ่ จะต้องมีระบบที่มีมาตรฐานตามกฎหมาย PDPA มากขึ้น แต่ผู้ประกอบการรายย่อย SME คงไม่ต้องทำ เพราะไม่อยากให้เป็นภาระต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการมากเกินไป เอาแต่พอดี เพื่อให้บริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลก็เพียงพอแล้ว
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีกฎหมายลูก PDPA ออกมา โดยมีหลักการว่าอยากให้ SME เรียนรู้ตื่นตัวเรื่องกฎหมาย เพื่อทำระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหล ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลของประชาชนไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยที่เขาไม่ยินยอมและทำให้เสียหาย แต่มีการยกเว้นระบบบางอย่าง เพราะต้องลงทุน ใช้เงิน เป็นภาระ จึงจะมีการยกเว้น ทำเพียงมาตรการเก็บข้อมูลไม่ให้รั่วไหล อย่าเอาข้อมูลไปขาย ไปใช้ในทางมิชอบ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับโทษหากเกิดความเสียหายจากข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล เริ่มจากไกล่เกลี่ย ตักเตือน ให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่ถ้ายังไม่ดำเนินการหยุดก็จะมีโทษปรับทางปกครอง แต่หากพบว่าเป็นการจงใจนำข้อมูลไปขาย ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน ก็จะมีโทษตามกฎหมายอาญา จำคุกหนึ่งปีและโทษปรับทางปกครองหลายล้านบาท
“วันนี้เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดสุดตอนนี้ คือ คนที่โทรมาขายของพวกเราจะลดลง เช่น ขายประกัน เพราะถ้าเขาโทรมาแล้วเรารับสาย เราสามารถถามกลับไปได้ว่าเอาเบอร์โทรศัพท์เรามาจากไหน เพราะถ้าเขาเอาข้อมูลมาใช้โทรหาโดยที่เราไม่ยินยอม เขาก็มีความผิด ให้จดมาเลยว่าใครโทรมา บริษัทไหน เอาข้อมูลมาจากใคร แล้วเอามาร้องเรียนที่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีความผิดทางกฎหมายแน่นอน
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะคนรำคาญกันเยอะ ผมเองก็รำคาญ บางวันนั่งประชุมอยู่ โทรมา 4-5 รอบ จะขายประกัน ซึ่งเราก็รู้ว่าเอาข้อมูลมาจากใคร เพราะบอกว่าถ้าจะซื้อประกันใช้บัตรเครดิตที่มีได้ อย่างนี้เราก็รู้แล้ว แต่จากนี้ไปทำไม่ได้แล้วนะ บอกไว้ก่อนว่าเป็นความผิด” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ผู้ประกอบการก็พยายามวางระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหล มีการเก็บข้อมูลให้ดี ขณะเดียวกันสร้างความรับรู้ในสังคม เพราะคนไทยเกี่ยวข้องทุกคนในเรื่องข้อมูล ระบบก็จะไปได้เอง ไม่เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป ไม่ต้องกังวล
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ