พนักงาน JSL รวมตัวร้อง “ทนายเดชา” ถูกเลิกจ้างฟ้าผ่า บริษัทไม่เคยเห็นใจ





จากกรณี บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ออกประกาศเรื่อง ‘ยุติการทำงานบางส่วน’ จึงเป็นเหตุพนักงานบริษัทที่ถูกยุติบทบาทได้รับเงินเยียวยาไม่ครบ และยังไม่ได้รับค่าเสียหาย จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 3 ก.ค.2565 ที่สำนักงานทนายคลายทุกข์ บริเวณ รัชดา 36 โดยทางด้านผู้เสียหาย บริษัทดังกล่าว เดินทางเข้าร้องทุกข์ กับ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ เพื่อร้องขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า วันนี้ตนเดินทางมาขอความช่วยเหลือจากทนายเดชาเพื่อเรียกร้องให้ได้รับสิทธิในเรื่องเงินชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เนื่องจากบริษัทได้ประกาศปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่ายมา เพื่อมาขอว่าพวกเราจะรับมือยังไงต่อไป ทั้งนี้ พวกเราทุกคนเดือนร้อนกันมาก เนื่องจากทางบริษัทมีเงินชดเชยให้แค่ 16% เท่านั้น ซึ่งตอนที่ได้รับรู้เรื่องนี้ ช็อกมาก ๆ และก็เสียใจที่บริษัทต้องปิดตัวลง

ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวต่อว่า แต่มันเกิดคำถามในใจพวกเรามากมายว่า พวกเราจะไปยังไงกันต่อ เนื่องจากพวกเราทำงานกันมานาน และเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง พนักงานส่วนใหญ่อายุงานค่อนข้างเยอะ เยอะสุดในบรรดาพวกเราอยู่ที่ 35 ปี พวกเราทำงานกันมาด้วยความเชื่อมั่น และถูกปลูกฝังมาจากผู้บริหารว่าจะสู้ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการขอลดเงินเดือน หรือเป็นการผ่อนจ่ายเงินเดือน พวกเราเต็มใจและเห็นใจบริษัทเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่ได้รับความเห็นใจจากบริษัทเลย

ผู้เสียหาย ยังกล่าวอีกว่า ยอดความเสียหายทั้งหมดอยู่ที่ 31 ล้านบาท ที่ทางบริษัทจะต้องชดใช้ให้กับลูกจ้างทั้งหมด 89 คน แต่บริษัทแจ้งว่า มียอดเงินชดใช้ให้เพียงแค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อนำมาแบ่งกันยอดทั้งหมดจะตกอยู่ที่ คนละ 16% เท่านั้น ยกตัวอย่าง บางคนที่ยังทำงานไม่เกิน 120 วันจะต้องได้รับค่าชดเชย อย่างค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ที่จะต้องอยู่ที่ 20,000 บาท แต่ถ้าอยู่ใน 16% จะได้รับเงินเยียวยา เพียง 3,000 บาทเท่านั้น

ผู้เสียหาย กล่าวว่า อย่างทำงานมา 1 ปี ไม่ครบ 3 ปี จะต้องได้รับเงินเยียวยา ตามกฎหมาย 147,000 แต่ได้แค่ 16% จะอยู่ยอดที่ 20,000 บาท ถ้าทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี 260,000 บาท จะเหลืออยู่ 40,000 บาท ครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้อยู่ที่ 470,000 บาท จะเหลือ แค่ 70,000 บาท ถ้าครบ 10 ปีแต่ไม่ครบ20ปี เงินที่ควรได้จะอยู่ที่ 920,000 บาท จะเหลือ 140,000 บาท ถ้าครบ20 ปี ตามกฎหมายจะต้องได้รับเงินเยียวยาอยู่ที่ 1,500,000 จะเหลืออยู่ 240,000 บาทเท่านั้น

ผู้เสียหาย กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่บริษัทลดเงินเดือนในที่นี้ โดยบริษัทจะให้มีการลาไม่รับค่าจ้างแบบอัตโนมัติ เหมือนการลาให้หยุดพักและไม่รับค่าจ้าง โดยจะต้องหักตามวันเวลาที่พนักงานหยุด แต่ทุกคนกลับไม่ได้หยุดพักเลยแถมยังต้องทำงานเพิ่มอีก รวมถึงเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือน โดยสมมติว่าเงินเดือน 10,000 บาท โดนหักลาไม่รับค่าจ้างไป 20% เงินจะอยู่ที่ 8,000 บาท สิ้นเดือนตนจะได้ที่ 4,000 บาท และบริษัทจะไปจ่ายเงินให้ภายในเดือนหน้า อีก 4,000 บาทด้วย และพวกเราก็ไม่เคยเรียกร้องอะไร แต่เรื่องหนี้สินไม่เคยรอเรา

ด้าน ทนายเดชา กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังมีการทำหนังสือให้พนักงานยินยอม โดยมีใจความระบุว่า “ข้าพเจ้า…ทราบและตกลงยอมรับการเลิกจ้างและข้าพเจ้าพอใจในเงินดังกล่าวข้างต้นนี้ ไม่ติดใจเรียกร้องเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บริษัทเจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน” การกระทำดังกล่าวของบริษัทเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากบุคคลที่จะรับ 16% นั้นจะต้องสละสิทธิ์ตามข้อความข้างต้นเพื่อรับเงินเยียวยา

“คุณไม่สามารถให้ลูกจ้างสละสิทธิ์รับค่าชดเชยเหลือแค่ 16% ไม่ได้เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถึงแม้จะมีการสละสิทธิ์ไม่รับเงินค่าชดเชย แต่พนักงานตรวจแรงงานก็ต้องมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายทุกคน” ทนายเดชา กล่าว

ทนายเดชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การเลิกจ้างจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยทั่วไปก็คือ 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทก็ไม่ได้มีการบอกกล่าว โดยทางกฎหมายแล้วนั้น ถ้าไม่ได้มีการบอกกล่าวจะต้องจ่ายเงินทันที ทั้งค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย จะต้องเริ่มตั้งแต่การประกาศเลิกจ้าง และนี่ผ่านมา 3 วันแล้ว ซึ่งจะต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เราจะต้องจ่ายเงินร้อยละ 15 ทุก 7 วัน และถ้ายังไม่จ่ายเงินจะต้องมีโทษจำคุก 6 เดือน มาตรา 140 อันนี้เป็นสิ่งที่บริษัทควรรับผิดชอบต่อพนักงาน

ทนายเดชา กล่าวอีกว่า ซึ่งพนักงานบางคนจะมีเกษียณภายในปีหน้า เขาจะต้องไปหาเลี้ยงชีพโดยไม่มีเงินค่าเยียวยาที่เพียงพอและยากที่จะไปหางานใหม่ ทั้งนี้ ยอด 5 ล้านบาทที่ทางบริษัทได้แจ้งไว้ ได้มีพนักงานที่ยินยอมรับข้อเสนอรับเงินไปแล้ว 4 แสนบาท โดยยอดที่ยังเหลืออยู่ไม่ได้นำมาไว้ที่กระทรวงแรงงาน และเงินที่เหลือไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ

ทนายเดชา กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทจงใจที่จะมีการฝ่าฝืนกฎหมายอยู่แล้ว บริษัทมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีทนายความประจำบริษัทจะต้องรู้ รวมถึงการสละสิทธิ์ที่ต้องเรียกเงิน ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าเป็นทนายความถือว่าผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะคุณรู้อยู่แล้วว่าคุณจะไปให้ลูกจ้างสละสิทธิ์ในการเรียกร้องเงินชดเชยซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองแรงงานเป็นเรื่องที่ขัดต่อจรรยาบรรณ

ทนายเดชา กล่าวด้วยว่า กระบวนการหลังจากนี้ เวลา 09.00 น. จะนำกลุ่มผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับกรมแรงงาน (พื้นที่ 4) ซึ่งจะมีการดำเนินการสอบวินิจฉัยโดยใช้เวลาภายใน 60 วัน และจะสั่งให้นายจ้างจ่ายภายใน 30 วัน ถ้าไม่มีการจ่ายจะต้องดำเนินคดีอาญาต่อไป

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: