วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นางสาวอาทิตยา อาษา ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายประชาชน 9 ด้าน และเครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพ เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับประเทศ
และเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มผ้าอนามัยเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบบัตรทอง เพื่อให้ผู้มีประจำเดือนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นและมีคุณภาพต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม
“ผ้าอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้มีประจำเดือน ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ผ้าอนามัยถูกบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ซึ่งไม่เพียงช่วยยับยั้งและป้องกันความเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้มีประจำเดือน แต่ยังช่วยลดรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระบบสาธารณสุขด้วย” นางสาวอาทิตยากล่าว
ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ กล่าวถึงเหตุผลที่ควรทำให้ผ้าอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์สุขอนามัยจำเป็นขั้นพื้นฐานของผู้มีประจำเดือนว่า การมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจและสังคม 3 ประการ ได้แก่ 1) ภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ 2) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศ และ 3) ภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน
นอกจากนี้ จากการที่ผู้มีประจำเดือนไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เนื่องจากความขาดแคลนทางเศรษฐกิจ ยังทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการติดเชื้อในช่องคลอด อาทิ โรคเชื้อรา โรคช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย หรืออาจทำให้เกิดภาวะพิษในกระแสเลือด ส่งผลต่อสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจได้
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ