เพจกฎหมายเผย ตอบไลน์วันหยุด เรียกเงินนายจ้างได้ เก็บหลักฐานให้ดี





วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน มีการเล่าเรื่องของเลขาหัวหน้าพ่อครัวใหญ่ (เชฟ) รายหนึ่ง ที่ถูกที่ทำงานให้ทำ OT บ่อย ๆ โดยที่ไม่ได้ค่าจ้าง รวมถึงการทักไลน์นอกเวลางาน ซึ่งเคสนี้ทางเพจมองว่าไม่แฟร์จึงขอชี้แจงตามข้อกฎหมาย

จุดเริ่มต้นของเรื่องต้นเหตุ

เลขาเชฟรายนี้ ปกติทำงานวันจันทร์ถึงเสาร์ เริ่มงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาก็ทำงานในเวลาปกติตลอด กระทั่งเดือนธันวาคม 2564 จวบจนปัจจุบัน เธอเริ่มได้ทำงานเกินเวลา ตั้งแต่ 09.00 – 22.00 น. รวม 13 ชั่วโมง ไม่เคยได้โอที ไม่มีเวลาพักกลางวันหรือทานอาหารชัดเจน วันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุด ก็ต้องตอบไลน์ที่ทำงานด้วย

เธอเคยแจ้งต่อเชฟว่างานเยอะ ทำไม่ทัน ก็ได้คำตอบแค่ว่า “ไม่เสร็จ ไม่ต้องกลับ” พอทำงานหนักก็เริ่มมีอาการป่วย ปวดหลัง ปวดเอวด้านหลัง จนลุกไปทำงานไม่ได้ ต้องแจ้งลาป่วยติด ๆ กัน ทว่าทางที่ทำงานก็ไม่เห็นใจ กลับมาตำหนิ บอกแค่ว่า “อย่าเอางานมาอ้าง”

เมื่อเจอตอบมาแบบนี้ ทำให้โรคประจำตัวของเลขาเชฟคนดังกล่าว คือ โรคแพนิค กำเริบขึ้นมา จนบานปลายเป็นโรคซึมเศร้า สุดท้ายเธอตัดสินใจลาออก เพราะรู้สึกถูกคุกคามอย่างรุนแรง สถานะตอนนี้ คือ ตกงานแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะทาง HR ไม่ดำเนินเรื่องใบผ่านงานให้ และไม่ชี้แจงเหตุผล ทั้งที่เธอต้องการใบผ่านงาน เซอร์วิสชาร์จ และเงินชดเชยที่สมควรจะได้รับเท่านั้น เจอแบบนี้ควรทำอย่างไรต่อไปดี

ในมุมของกฎหมาย นายจ้างทำผิดหลายกระทง แต่มีข้อหนึ่งเอาผิดไม่ได้

หลังจากเล่าเรื่องจบ ทางเพจก็สรุปมาเป็นข้อ ๆ ว่า นายจ้างทำผิดกฎหมายอะไรบ้าง

1. เรื่องเวลาทำงาน เลขาเชฟทำงาน 13 ชั่วโมง ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้แค่ 8 ชั่วดมง ถ้าเกิน 8 ชั่วโมง นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา

2. วันอาทิตย์ต้องตอบไลน์ กรณีนี้ถือว่า นายจ้างให้ทำงานวันหยุด มีสิทธิ์ได้เงินอีก 1 เท่า ขอให้เก็บหลักฐานการแชตสั่งงานไว้ให้ดี

3. นายจ้างบอกว่า งานไม่เสร็จ ไม่ต้องกลับ ในส่วนนี้ต้องพิจารณาว่า ไม่ต้องกลับคือ เกิน 8 ชั่วโมงหรือไม่ เกินมาเท่าใดก็เรียกค่าโอทีย้อนหลัง

4. เวลาพักไม่ชัด หรือ ไม่ได้พัก กรณีนี้ผิดมาตรา 27 เพราะกฎหมายระบุว่า ต้องจัดเวลาพัก 1 ชั่วโมงหลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมง

5. การให้ทำโอทีเกิน 2 ชั่วโมงต่อจากการทำงานปกติ ต้องจัดเวลาพักไม่น้อยกว่า 20 นาที กรณีนี้ก็เรียกค่าเสียหายได้

6. เรื่องการลาออกแล้ว HR ไม่ดำเนินเรื่อง ถือว่าการลาออกมีผลทันทีตั้งแต่ประสงค์ที่จะออก ไม่ต้องสนใจ HR ว่าอนุมัติหรือไม่อนุมัติ

7. เงินค่าจ้าง เซอร์วิสชาร์จที่ค้างจ่าย ถ้าถึงกำหนดจ่ายเงินเดือนแล้วยังไม่ได้รับ ถือว่านายจ้างผิดนัด ต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนเรื่องเงินชดเชย ไม่มีสิทธิ์ได้ เพราะลาออกเอง ไม่ได้เลิกจ้าง

สุดท้าย ทางเพจแนะนำว่า ให้นำหลักฐานไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในเขตพื้นที่ เพื่อเรียกร้องเอาเงินส่วนที่ยังไม่ได้ พร้อมดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหนึ่งที่ไม่มีกฎชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่าผิดหรือไม่ นั่นคือ “การลาป่วยแล้วถูกตำหนิ”

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: