มติ ส.ว.ไม่เห็นชอบ”อารยะ” นั่ง ป.ป.ช.อ้างแนวคิดตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์นิยม





มติวุฒิสภา 146 ต่อ 38 เสียง ไม่เห็นชอบให้ ‘อารยะ ปรีชาเมตตา’ เป็นกรรมการ ป.ป.ช.แทนตำแหน่งที่ว่างลง และมีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุม-รายงานลับ กมธ.ตรวจสอบประวัติด้วย อ้างมีแนวคิดตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์นิยม

1 ส.ค.2565 ที่ประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณาเรื่องด่วนเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รายของ ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาได้มีมติเลือกเมื่อเดือน เม.ย.2565 และเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ

โดนที่ประชุมวุฒิสภา มีมติไม่เห็นชอบให้ ศ.อารยะ ดำรงตำแหน่งเป็น ป.ป.ช. ด้วยคะแนนไม่เห็นชอบ 146 เสียง ต่อ 38 เสียง ไม่ออกเสียง 14 เสียง ส่งผลให้คะแนนเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา

นอกจากนี้ที่ประชุมวุฒิสภา ยังมีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมจำนวน 6 ครั้ง และรายงานลับของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยมติเห็นด้วย 166 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

กระบวนการสรรหา ป.ป.ช.ปัจจุบัน เป็นการสรรหาคนใหม่แทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปี ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเมื่อเดือน ต.ค.2564 คณะกรรมการสรรหาได้มีมติเลือก นายจาตุรงค์ สรนุวัตร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต่อมามีรายงานว่า นายจาตุรงค์ ได้ยื่นหนังสือถอนตัว ต่อมาในการสรรหาครั้งที่ 2 มีรายงานว่าคณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาลงมติถึง 3 ครั้งกระทั่งมีมติเลือก ศ.อารยะ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. กระทั่งที่ประชุมวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบในวันนี้

แหล่งข่าวจากวุฒิสภา เปิดเผยว่า เหตุผลที่วุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ เนื่องจาก ศ.อารยะ ถูกมองว่า พฤติการณ์และมีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ทั้งนี้ ศ.อารยะ เคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2562 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) , กีรตยาจารยืแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2561 , รางวัล Best Paper Award of AEJ 21 ประเภท บทความดีเยี่ยม จากวารสารเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ เรื่อง “พลวัตความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ : สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น”

ข่าวจาก สำนักพิมพ์อิศรา

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: