พ่อแม่ฟ้องศาล ก่อนลูกชายตาย หลงเมีย คบปีเดียวยกให้เมียหมด26ล้าน





23 กรกฎาคม 2565 เว็บไซต์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เผยรายงานคดีความชวนอึ้งจากประเทศจีน ศาลท้องถิ่นเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ พิจารณาคดีการฟ้องร้องจากคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งออกมาโต้แย้งพินัยกรรมของลูกชายที่เพิ่งเสียชีวิตจากไปไม่นาน ภายหลังพบว่า ลูกชายต้องการยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ “แฟนสาว” ของเขา ที่เพิ่งคบหากันได้เพียง 1 ปี รวมมูลค่าทั้งหมดกว่า 5 ล้านหยวน (ราว 26 ล้านบาท)

ตามรายงานของทางผู้พิพากษาในคดีกล่าว เผยว่า ลูกชายของคู่สามีภรรยานี้ ชื่อสกุลเกา ส่วนแฟนสาวของเขาชื่อสกุล หวัง ทั้งสองชอบพอกันและคบหากัน หวังดูแลเกาเป็นอย่างดี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ซึ่งรายงานไม่ได้เปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตของเขาที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตามปมปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น เมื่อหวังพยายามจะโอนบ้านของเกาให้มาเป็นชื่อของเธอ โดยเชื่อว่าเธอมีสิทธิ์ตามกฎหมายในบ้านหลังนั้น เพราะเกาได้มอบมันให้กับเธอ ตามความประสงค์ของเขาที่ระบุไว้ในพินัยกรรมอย่างชัดแจ้ง แต่ทางพ่อแม่ของเกาไม่ยอมรับ

พ่อและแม่ของเกายื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม โดยโต้แย้งว่า พวกเขาเป็นคนซื้อบ้านของลูกชาย พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “ศีลธรรมในครอบครัวและสังคม ควรเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุน” ต่อมา ทางศาลได้นัดให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันมากถึง 5 รอบ แต่ผลปรากฏว่า ทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถตกลงกันได้

ศาลจึงมีคำตัดสินขั้นสุดท้าย ระบุว่า ให้บ้านของเกา เป็นของพ่อและแม่ของเขา ส่วนหวัง จะได้รับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ของเกา พร้อมทั้งเงินเก็บของเขาจำนวน 1 ล้านหยวน (ราว 5 ล้านบาท) รวมทั้งค่าชดเชยที่จะได้รับจากพ่อและแม่ของเกาสำหรับค่ารักษาทรัพย์สิน เป็นจำนวน 600,00 ยวน (ราว 3.2 ล้านบาท)

คดีนี้ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์ เนื่องจากความตึงเครียดของคดีซึ่งต้องตัดสินระหว่างเรื่องวัฒนธรรมทางสังคม ซึ่งคาดหวังว่าทรัพย์สินของลูกชายจะต้องกลับคืนเป็นของพ่อแม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือทำตามพินัยกรรมของผู้ตายที่ต้องการมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้แฟนสาวที่คบกันมาแค่เพียง 1 ปี

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น กล่าวว่า “ผู้ชายคนนั้นเกลียดพ่อแม่ของเขาหรือเปล่า” และ “พ่อแม่ซื้อบ้าน แต่ตอนนี้พวกเขาต้องจ่ายเพิ่มอีก 600,000 หยวน เป็นค่าชดเชย เพื่อที่จะได้บ้านคืน ช่างน่าขำเสียจริง !”

อย่างไรก็ตาม ผู้คนอีกส่วนวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลที่ละเมิดเจตจำนงของผู้ตาย ทั้งที่ระบุไว้ในพินัยกรรมแล้วชัดเจน “ทำไมศาลไม่ปฏิบัติตามพินัยกรรม แล้วอย่างนี้พินัยกรรม ถือเป็นโมฆะเหรอ ?”

ทั้งนี้ ตามกฎหมายของจีน ระบุไว้ว่า บุคคลที่เขียนพินัยกรรมจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด พินัยกรรมจึงจะมีผลใช้บังคับ ผู้เขียนจะต้องมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และสามารถพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้ถูกบังคับหรือถูกคุกคาม รวมทั้งต้องมีพยาน 2 คนอยู่ด้วย ในขณะที่ลงนามในพินัยกรรม

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: