8หมื่นผู้ต้องได้ลดวันต้องโทษ ราชทัณฑ์เผยบิ๊กเนมไม่เข้าเกณฑ์





12 ส.ค.2565 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ.2565 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติสืบไป

นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า โดยในครั้งนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี หรือชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยมเท่านั้น และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาฯ จะมีทั้งกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ส่วนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป และกลุ่มที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกตามสัดส่วนที่กำหนด โดยแตกต่างกันตามประเภทความร้ายแรงของคดี และตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันบำบัดฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำและทัณฑสถาน ตั้งแต่การให้การศึกษา การอบรมพัฒนาจิตใจ การฝึกทักษะอาชีพ ไปจนถึงการแนะแนวการประกอบอาชีพ

โดยเฉพาะการเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกปฏิบัติการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้มีความรู้ติดตัว เป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สามารถนำไปประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังพ้นโทษได้

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายภาคสังคมและชุมชนในการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือ โดยหวังว่าสังคม ตลอดจนผู้ประกอบการ หรือห้างร้าน บริษัทต่าง ๆ จะให้โอกาสผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ร่วมให้กำลังใจและเปิดใจยอมรับผู้ก้าวพลาด ให้ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก อันถือเป็นการปกป้องและคุ้มครองสังคมให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอายุตม์ กล่าวว่า สำหรับจำนวนผู้ต้องขังที่ได้เข้าหลักเกณฑ์ปล่อยตัว และลดโทษแล้วปล่อยตัวออกจากเรือนจำมีจำนวน 22,822 คน และได้รับการลดโทษแต่ยังคงต้องจำคุกต่อในเรือนจำมีจำนวน 80,791 ราย รวมมีผู้ต้องขังที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา 2565 ฉบับนี้จำนวน 103,613 ราย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในรอบนี้มีกลุ่มรายชื่อนักการเมืองอย่าง นายเทพไท เสนพงศ์, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์, พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีต ผกก.โจ้ เข้าหลักเกณฑ์ลดโทษหรือไม่ นายอายุตม์ กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ต้องขังที่เป็นรายชื่อบิ๊กเนมหรือนักการเมือง หรืออดีตผู้กำกับในคดีดังนั้น จะไม่ได้รับสิทธิการลดโทษ เนื่องจากยังคงจำคุกไม่ถึง 1 ใน 3 ของโทษ ซึ่งพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ฉบับนี้ได้ระบุหลักเกณฑ์ชัดเจน หรือต้องจำคุกมา 1 ใน 3 ของโทษ หรือ 8 ปี ต่อให้มีอายุ 70 ปี ก็ต้องเข้าหลักเกณฑ์ 1 ใน 3

นายอายุตม์ ยังกล่าวว่า ส่วนกลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ คือ 1.นักโทษเด็ดขาด ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว และได้รับโทษจำคุกมาแล้วยังไม่เกินสิบห้าปี และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม 2.ผู้ต้องโทษคดียาเสพติดตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังพระราชกฤษฎีกา 2565 บังคับใช้ 3.ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำและมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และ 4.นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง หรือชั้นต้องปรับปรุงมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ควบคุมในเรือนจำทั่วประเทศ จำนวน 213,092 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 269,267 ราย จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2565

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: