26 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับการควบคุมกัญชา 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.65 ที่ผ่านมา คือ 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ลงนามโดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการนำกัญชาหรือกัญชงมาทำอาหารเพื่อจำหน่าย โดยให้เพิ่มข้อ 6/1 “อาหารประเภทปรุงสำเร็จตามข้อ 5 และข้อ 6 ที่มีการนำกัญชา หรือกัญชงมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ให้ดำเนินการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
(1) แสดงข้อความหรือป้ายสัญลักษณ์ว่า เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชาหรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ
(2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชาหรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด
(3) แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ โดยแสดงข้อความ ดังต่อไปนี้ (ก) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน (ข) ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรงให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว (ค) ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน (ง) รับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
และ 2.ประกาศกรมอนามัย เรื่อง กำหนดหัวข้อวิชา การใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย ในการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2565 ลงนามโดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย โดยกำหนดให้การใช้กัญชา กัญชง ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย เป็นหัวข้อวิชาหนึ่งในหลักสูตรการอบรมผู้ประกอบกิจการ
และหลักสูตรการอบรมผู้สัมผัสอาหารแห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2561 เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการนำกัญชา กัญชงมาทำอาหารจำหน่ายอย่างปลอดภัย โดยมีทั้งหมด 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรผู้ประกอบกิจการ และหลักสูตรผู้สัมผัสอาหาร มีระยะเวลาในการอบรม 30 นาที
ประเด็นสำคัญในการอบรมคือ คุณค่าทางโภชนาการของกัญชา กัญชง และโทษในกรณีบริโภคไม่เหมาะสม, การนำกัญชา กัญชง มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ข้อปฏิบัติในการนำกัญชาหรือกัญชงมาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร โดยในหลักสูตรของผู้ประกอบกิจการจะเพิ่มเรื่องบทบาท หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในการควบคุม กำกับ ดูแลการใช้กัญชาหรือกัญชงในสถานที่จำหน่ายอาหาร
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ