6 กันยายน ที่โรงงานมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุง รถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ว่าตามที่การรถไฟฯได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab) 52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน ซึ่งปัจจุบันมีการส่งมอบครบทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564
ทั้งนี้ การรถไฟฯ โดยฝ่ายการช่างกล ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ซึ่งปัจจุบันเตรียมให้บริการ 1 ขบวน ประกอบด้วย รถไฟจำนวน 4 คัน โดยปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน ซึ่งอีก 1 คัน อยู่ระหว่างปรับปรุงสีขบวนรถ โดยการรถไฟฯรับค่าใช้จ่ายในส่วนของการดำเนินการขนย้ายขบวนรถไฟทั้งหมด 17 คัน รวมเป็นเงิน 42.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5 ล้านบาทต่อคัน และมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดัดแปลงล้อเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคัน หากจัดซื้อตู้โดยสารใหม่จะมีค่าใช้จ่ายถึง 80-100 ล้านบาทต่อคัน เป็นการดัดแปลงที่มีความคุ้มค่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับการรถไฟได้มากกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่ถึง 400 เท่า
ทั้งนี้ ได้นำมาเปิดทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก ซึ่งการทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งภายหลังจากทดสอบประสิทธิภาพขบวนรถชุดแรกแล้วเสร็จ การรถไฟฯจะเร่งปรับปรุงรถคันอื่นที่เหลือเพื่อเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566
“หลังจากนี้การรถไฟฯจะเร่งปรัปรุงขบวนรถ โดยยังคงเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งยืนยันว่าขบวนรถที่รับมาทั้งหมดสามารถใช้งานไดถึง 15-20 ปี โดยจะเริ่มทดลองเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อรองรับฤดูการท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ การรถไฟฯจะเปิรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาการให้บริการตามแนวเส้นทางต่างๆ เบื้องต้นจะเริ่มให้บริการในเส้นทางระยะสั้น หรือไม่เกิน 300 กิโลเมตร อาทิ น้ำตกไทรโยก จ.กาญจนบุรี หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ุ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี” นายนิรุฒ กล่าว
ส่วนแผนการปรับปรุงรถระยะที่ 2 การรถไฟฯ ได้วางแผนการซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้บริการเดินรถได้ในระยะยาว อาทิ การเปลี่ยนล้อ เพลาใหม่ พร้อม Bearing เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ เปลี่ยนเครื่องทำลมอัด (Air Compressor) ใหม่ ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบไฟแสงสว่างเป็น 220 V. และระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็น 380 v./220 v. 50 Hz โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการครบทุกคัน ประมาณ 2 ปี
“การรถไฟฯมุ่งหวังว่าการเปิดให้บริการขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 นี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์เดินทางใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายนิรุฒกล่าว
“การรถไฟฯมุ่งหวังว่าการเปิดให้บริการขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 นี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์เดินทางใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายนิรุฒกล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ