นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนในประเทศไทยหลังเกษียณ พบตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40% ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพสูงกว่ามิติการเงิน จึงมีโจทย์ว่าจะใช้เงินเท่าใดให้พอ ซึ่งการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่าจำนวนเงินที่เพียงพอจะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และต้องทยอยนำเงินมาใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน หมายความว่ามีการใช้เงินมากกว่าที่มีอยู่
“ผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชน รองลงมาคือภาครัฐต้องสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน ส่งเสริมเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ และฝั่งนายจ้าง ควรดูแลพนักงานไม่ใช่ดเฉพาะเวลาทำงาน แต่มองไปถึงว่าหลังเลิกทำงานควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย” นางพรอนงค์กล่าว
นางพรอนงค์ กล่าวว่า แรงงานในระบบสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท จึงอยากให้ทุกคนออมผ่านรูปแบบใดก็ได้ในสัดส่วน 15% ของรายได้ หากออมต่ำกว่า 10% ต่อไปชีวิตลำบากแน่ ขั้นต่ำต้องออม 15% หากใครทำได้ระดับ 30% เรียกว่าดี อยู่ได้ แต่หากสูงกว่า 30% ถือว่าดี ซึ่งการออมต่ำกว่า 10% อนาคตต้องพึ่งพาการถูกลอตเตอรี่ ได้มรดก หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ควบคุมได้คือการออมจากประโยชน์ที่ได้คือผลประโยชน์ภาษี และหากใครมีการออมเกิน 15% อยู่แล้วให้ใส่ความรู้ด้านการลงทุนเข้าไปด้วย ส่วนแรงงานนอกระบบ ขอให้มีวินัยด้านการออม เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 และกองทุน อาชีพอิสระไม่ควรลงทุนสิ่งที่เสี่ยง สำหรับอุปสรรคการออมหลังเกษียณ ประชาชนส่วนใหญ่กังวลความเสี่ยง อาทิ โควิด สงคราม
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ