หมอมนูญ แนะหยุดใช้ ยาฟาวิฯ ชี้ไม่ช่วยรักษาโควิด แถมยังเพิ่มกรดยูริก





8 กันยายน 2565 นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ได้ช่วยรักษาโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นข้อมูลจากการวิจัยของต่างประเทศ พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ได้ช่วยทำให้อาการของโรคโควิด 19 ดีขึ้น ไม่ได้ลดความรุนแรงของโรค ไม่ได้ลดการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล และไม่ได้ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย และยังทำให้มีกรดยูริกสูงขึ้นถึง 19.9 เปอร์เซ็นต์ อีกด้วย

โดยนายแพทย์มนูญ กล่าวว่า สื่อต่างประเทศรายงานไว้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ผลการศึกษาแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุมเปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอก ที่ทำในประเทศสหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก และบราซิล สร้างความผิดหวังให้กับบริษัทยาของญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยาตัวนี้ ผลงานวิจัยนี้เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Infectious Diseases เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ระบุว่า การศึกษาทำในช่วงพฤศจิกายน 2563 – ตุลาคม 2564 เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ในคนติดเชื้อไวรัสโควิด 1,187 ราย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (ชาวอเมริกัน 963 คน, เม็กซิกัน 163 คน และบราซิล 65 คน) โดยให้ยาภายใน 5 วัน หลังเริ่มมีอาการ ให้ยาทั้งหมด 10 วัน แบ่งเป็น 599 คน รับยาฟาวิพิราเวียร์ และ 588 คนรับยาหลอก

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่แตกต่างจากยาหลอก ไม่ช่วยทำให้อาการของโรคโควิดดีขึ้น ไม่ลดความรุนแรงของโรค ไม่ลดการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล ไม่ลดจำนวนไวรัสในร่างกาย แต่คนที่กินยาฟาวิพิราเวียร์ มีกรดยูริกสูงขึ้นถึง 19.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก 2.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการศึกษานี้พูดถึงประเทศที่ยังใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ คือประเทศรัสเซีย, อินโดนีเซีย, ดูไบ และประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

นายแพทย์มนูญ ทิ้งท้ายว่า บทสรุปของการศึกษานี้ ไม่ควรนำยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ในการรักษาโรคโควิด 19 ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรหยุดใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด 19 ยาโมลนูพิราเวียร์ปัจจุบันราคาไม่แพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ประเทศเพื่อนบ้านของเราเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์นานแล้ว และเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์และแพ็กซ์โลวิด ซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ลดความรุนแรงของโรค ลดการเข้านอนในโรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรมควรเลิกผลิต และนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ และไม่ควรส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ร้านขายยาและโรงพยาบาลอีกต่อไป

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: