เมื่อวันที่ 11 กันยายน จากกรณีสำนักงานเขตบางเขน ได้เผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา ของกรุงเทพมหานคร ชื่อ นายบุญเรือง ถานา อายุ 48 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา (พนักงานทั่วไป )ทำหน้าที่ระบายน้ำประจำเขตบางเขน ขณะกำลังมุดท่อเพื่อกำจัดขยะอุดตัน ที่ซอยรามอินทรา 21 เขตบางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาการระบายน้ำล่าช้า
โดยในกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจรที่เขตบางเขนวันนี้ นายบุญเรืองได้เข้าร่วมเป็นพนักงานดีเด่นร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ที่สำนักงานเขตบางเขน
นายบุญเรือง ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ถึงการมุดท่อไปเก็บขยะว่า ตนเป็นฝ่ายโยธาฯ แต่เป็นพนักงานทั่วไป ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ระบายน้ำประจำเขตบางเขน เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2557
“สาเหตุที่ลงไปเพราะหัวกะโหลกที่ดูดน้ำนั้นอุดตัน เหมือนซิงค์ที่มีตะกอนไปอุด ทำให้น้ำไหลไม่สะดวกและทำให้เอ่อขึ้น ถ้าเราไม่ลงไปเอาขยะตรงนั้นขึ้น น้ำจะดูดไม่เต็มท่อ และเราต้องการระบายช่วยประชาชนให้ได้มากที่สุด เราต้องลงไปให้ลึกที่สุด ให้ประชาชนเขาได้เดินผ่านไปผ่านมาหรือสัญจรไปมาได้สะดวก” นายบุญเรืองกล่าว
เมื่อสอบถามว่าการลงไปทั้งตัวไม่มีอะไรป้องกันนั้นเสี่ยงอันตรายมากน้อยแค่ไหน ? นายบุญเรือง ตอบว่า อย่างน้อยต้องใส่รองเท้า เพราะไม่รู้ว่าด้านล่างมีเศษแก้วหรือไม่
“ต้องใส่รองเท้า เพราะไม่รู้ว่าข้างล่างอาจมีเศษแก้วหรืออะไรหรือไม่ แต่ก่อนลงไปก็จะดับเครื่องสูบน้ำก่อน จะมีบาดมือบาดอะไรบ้าง เพราะว่าบางขวดที่ไปติดซอกของหอยโข่งตรงหัวสูบก็มี บางทีก็ไม่มี ส่วนมากขยะจะเป็นถุงพลาสติกเยอะมาก เช่น ถุงก็อบแก็บ ซึ้งจะไปอุดตรงหัวกะโหลกที่ต้องดูดน้ำ เราเลยดับเครื่องสูบและลงไปงมมันขึ้นมา บางทีก็มีหลอดกาแฟ ก้นบุหรี่ หรือแก้วก็มี “ นายบุญเรืองกล่าว
เมื่อสอบถามว่าการนำขยะออกมีแค่วิธีการลงไปนำออกเองใช่หรือไม่ นายบุญเรือง กล่าวว่า ใช่ ความจริงตามธรรมดา น้ำต้องลดระดับลงไปก่อน แต่เราสูบน้ำเพื่อที่จะระบายให้ได้มากที่สุด อะไรที่เราทำหรือช่วยได้ เราก็จะไปทำให้ก่อน ก่อนที่จะให้ส่วนอื่นเข้ามาช่วยจริงๆ
เมื่อสอบถามว่าไม่มีเครื่องช่วยอะไรเลยใช่หรือไม่ นายบุญเรือง กล่าวว่า ไม่มี ประเทศเราไม่มีชุดดำน้ำสำหรับดำลงไปในท่อ
เมื่อสอบถามต่อว่าเคยลงไปเองบ่อยหรือไม่ นายบุญเรืองกล่าวว่า บ่อยมาก อย่างเมื่อเช้าตนเพิ่งลงไป และเพิ่งเปลี่ยนเสื้อผ้ามาที่สำนักงานเขตบางเขน
เมื่อสอบถามว่าอยากให้มีการช่วยเหลือเรื่องความปลอดภัยในด้านนี้หรือไม่ นายบุญเรือง เผยว่า
“อยากให้มีชุดอะไรมาป้องกัน ส่วนชุดที่เราใส่ไปก็รู้สึกว่าพอลงไปในน้ำชุดมันไม่รัด ถ้าเราจะใส่เอี๊ยมที่เขาใส่ เป็นชุดกันน้ำ ผมก็ปีนขึ้นไม่ได้ เราก็ต้องเอาความสะดวกเพื่อที่จะปีนขึ้นจากท่อ บางทีขนาดท่อมีความลึก แม้จะมีระดับน้ำถึงคอแต่ก็ต้องมุดลงไปตรงหัวกะโหลก อยากให้มีอะไรกันด้วย แต่ประเทศเรายังไม่มีชุดดำน้ำสำหรับภารกิจแบบนี้”
เมื่อสอบถามว่ามีอะไรที่อยากให้นายชัชชาติช่วยหรือไม่ ได้คำตอบว่า อยากให้ช่วยเรื่องเขื่อนให้แล้วเสร็จและเรื่องเครื่องสูบน้ำ ให้ท่านพิจารณาเพื่อที่น้ำจะได้ระบาย ประชาชนก็จะได้เดินสะดวก หรือสัญจรไปมาสะดวก อย่างเช่น คนเดินไปมาตามท้องถนน คนขับรถบางคนก็รีบ น้ำกระจาย บางทีต้องตะโกนไปว่า
“พี่เบาเบ๊า”
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ