ป.ป.ช.ชี้ “โครงการอาหารกลางวัน” ร.ร.เข้าใจแต่ไม่ปฏิบัติ ภาคปชช.จี้เพิ่มหัวละ 35 บ. ตามค่าครองชีพ





จากกรณีที่ ป.ป.ช.ตรังพร้อมกับชมรมตรังต้านโกงลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวัน ที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามา ปรากฏว่า 1 ใน 8 โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครตรัง และโรงเรียนในระบบ สพฐ.เขต 2 ทั้ง 2 โรงเรียน ไม่ดำเนินการตามหนังสือสั่งการ หรือการกำชับมาจากกระทรวง และโรงเรียนได้จัดซื้อหาวัตถุดิบมาปรุงเอง นอกจากไม่เปิดเผยจำนวนวัตถุดิบที่ซื้อมาในแต่ละวัน เมนูอาหารนักเรียนไม่เหมาะสมทั้งในเชิงคุณภาพ เช่น ใช้วัตถุดิบราคาถูก ปริมาณน้อยและราคาไม่สม ไม่มีการโชว์เมนูรายการอาหาร บางเมนูหายไปจากเมนูอาหารที่วางแผนไว้ ไม่มีการให้ภาคประชาชน ผู้ปกครอง คนในชุมชน เข้าไปมีส่วนร่วมเข้าตรวจสอบ

นายราม วสุธนภิญโญ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ตรังได้เชิญผู้บริหารสถานศึกษาในเขตพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดตรังเข้ามาพูดคุยในเรื่องแนวทางของอาหารกลางวันหลายครั้ง ซึ่งทุกปีก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มตรวจเพื่อทำให้ถูกต้องในเรื่องการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องรายงานเขต ประสานงานเขตเพื่อดำเนินการกำชับอยู่เนืองๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการอาหารกลางวันสำหรับเด็ก ตนมองว่าในทางปฏิบัติทุกคนมีความเข้าใจหมดแล้ว เหลือเพียงแต่ผู้ปฏิบัติ หรือสถานศึกษาได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแค่ไหน

นายรามกล่าวอีกว่า ในส่วนที่ผู้บริหารสถานศึกษาอ้างว่าค่าหัว 21 บาท น้อยเกินไป ไม่สามารถทำอาหารให้มีคุณภาพได้นั้น ต้องเข้าใจบริบทของภาคเศรษฐกิจประเทศไทย งบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด ถ้าสถานศึกษาให้ความใสใจและให้ความสำคัญ ตนมองว่าทำได้ในความเหมาะสมของงบประมาณ เอาจำนวนเงินเป็นหลัก อย่าเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ซึ่งหลังจากนี้ก็อาจจะเชิญผู้บริหารการศึกษามาพูดคุยกันอีกสักครั้งหนึ่ง

นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า สำหรับโครงการอาหารกลางวันเด็กมีปัญหากันมาอย่างต่อเนื่องตลอดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ในส่วนของ จ.ตรัง ทาง ป.ป.ช.ตรัง และชมรมตรังต้านโกงได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจอยู่เรื่อยๆ และจากการลงพื้นที่สุ่มตรวจตลอดเวลาที่ผ่านมาในหลายๆ โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ครู ก็ยังมีการกระทำการที่เรียกว่าไม่เข้าใจในการบริหารจัดการในเรื่องโครงการอาหารกลางวัน และบางโรงเรียนมีท่าทีเบียดบังเอาเปรียบนักเรียนกับโครงการอาหารกลางวันอยู่ ซึ่งจะพูดว่าทุจริตหรือไม่อันนั้นก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน แต่เห็นได้ชัดส่วนหนึ่งที่นักเรียนได้รับบริการเรื่องของอาหารกลางวันยังไม่มีความถูกต้องตรงไปตรงมา จากที่รัฐได้จ่ายค่าหัวนักเรียนในราคา 21 บาท แต่ปรากฏว่าเมื่อดูอาหารกลางวันที่เด็กได้รับแล้ว เด็กเล็กที่ร่างกายต้องการสารอาหารที่มีคุณค่าที่จะทำให้ร่างกาย สมอง ยังไม่ได้รับสิ่งดีๆ เท่าที่ควร ซึ่งจะมีผลในระยะยาวต่อไป ก็อยากจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้โปร่งใสยิ่งขึ้น

นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า ในส่วนค่าหัว 21 บาทต่อคน ถ้าเอาตามความเป็นจริงแล้วมองว่ายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะการได้รับ 21 บาทนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอยู่ด้วย เช่น บางโรงเรียนหักค่าจ้างแม่ครัวที่รับจ้างมาทำอาหาร หักค่าแก๊ส ค่าเครื่องปรุงต่างๆ ทำให้อาหารที่เด็กได้รับจริงๆ อาจจะอยู่แค่ 10 กว่าบาทเท่านั้น หรือ 10 บาทต้นๆ ซึ่งเด็กเล็กจะไม่ได้รับสารอาหารที่ดี ตรงนี้รัฐน่าจะพิจารณาความเหมาะสมมากกว่านี้ สำหรับค่าหัวที่รัฐจะเพิ่มให้เป็น 27 บาทนั้น

ตนมองว่ายังไม่ได้ตามความเหมาะสม น่าจะปรับไปถึงมื้อละ 35 บาทด้วยซ้ำ ตามค่าครองชีพในวันนี้ เพราะทุกอย่างมีราคาแพง ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลที่มีต้นทุนในการขนส่งอีกก็ยิ่งไปกันใหญ่ ทำให้เด็กได้รับมูลค่าอาหารลดลงไปอีก เช่น ในพื้นที่ภูเขา ตามเกาะต่างๆ ก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้น ทั้งนี้ มองว่าผู้บริหารทุกระดับชั้นต้องมาพิจารณาในส่วนนี้ ไม่ใช่ให้เป็นส่วนของ ป.ป.ช. หรือภาคประชาชนที่จะไปเฝ้าสังเกต เพราะการให้อาหารกลางวันเด็กหรือการให้อาหารเสริม นมโรงเรียนก็ดี ควรจะมีคุณภาพ เพราะเด็กเหล่านี้ต้องการสารอาหารไปบำรุงสมอง ร่างกาย ให้เติบโต

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: