เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ติดโควิดไม่ต้องกักตัว แค่เข้มมาตรการป้องกัน 5 วัน





21 ก.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า จากที่มีการประกาศปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ต.ค. 2565 – ก.ย.2566 มียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค 2.ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล 3.ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ และ 4. ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบต่อไป เพื่อให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติกาสอดคล้องกับแผนหลัก เพื่อให้เกิดความพร้อมทุกด้าน และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจประกาศพื้นที่โรคระบาดตามความจำเป็น

และ2.เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยยกเลิกแสดงเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK โรคโควิด-19 แต่ยังคงการเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่ออุบัติใหม่, ปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ไม่ต้องกักตัว แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHT คือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และตรวจให้ไวอย่างเคร่งครัด 5 วัน

ส่วนประชาชนให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น สวมหน้ากากในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น หรือเป็นพื้นที่อากาศไม่ถ่ายเท ล้างมือ และตรวจ ATKเมื่อมีอาการ,สถานประกอบการให้คัดกรองพนักงานเป็นประจำ หากจำเป็นต้องตรวจATK ที่มีอาการโรคทางเดินหายใจก็ให้ดำเนินการ และCOVID-Free Setting ขึ้นกับการพิจารณาของผู้บริหารดำเนินการตามความเหมาะสม

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังรับทราบอีก 4 เรื่อง คือ 1.แผนบริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี คาดว่าเริ่มให้บริการได้ช่วงกลางเดือนต.ค.2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต 2.แนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ของประเทศไทย ในประชาชนกว่า 3.5 พันคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19

3.แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) ซึ่งสธ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษา รวมถึงการแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป และ 4.โครงการการใช้ยาคลอโรควินเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ในพื้นที่ที่มีการระบาดบริเวณชายแดนไทย – เมียนมา

“สถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ แต่ ยังคงมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคจำนวนหนึ่งที่ต้องขอให้มารับวัคซีน โดยมาตรการต่างๆที่ปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้สมดุลด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง”นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล นายอนุทิน กล่าวว่า เหมือนเดิมทุกอย่าง กรณีUCEP หรือ UCEP Plus ยังคงอยู่ เพราะยังถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มียาที่มาจดทะเบียนใช้ในภาวะปกติ แต่ยังเป็นการจดทะเบียนนำมาใช้ในการดูแลรักษาโควิด-19ยังอยู่ภายใต้แบบฉุกเฉิน รวมถึงวัคซีนด้วย จึงยังมีความเหมาะสมที่ยังคงต้องให้การรักษาดูแลประชาชนโดยภาครัฐอยู่ ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วต้องการไปพบแพทย์หรือแพทย์วินิจฉัยว่าไม่ต้องนอนรักษาในรพ. แต่ผู้ติดเชื่้อยังประสงค์นอนรพ.ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดง เช่น หายใจล้มเหลว หรือความดันตก ยังคงมีสิทธิของUCEP Plus คือเข้ารักษาได้ทุกสถานพยาบาล และให้รับรักษาจนหาย ซึ่งจะต่างจากUCEP ทั่วไปที่จะรักษาจนพ้นภาวะวิกฤติและส่งกลับสถานพยาบาลตามสิทธิใน 72 ชั่วโมง

 

ข่าวจาก : bangkokbiznews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: