22 ก.ย. 2565 รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะหัวหน้าวิจัยโครงการศึกษาการรับรู้และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทย เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของไทย ที่พบว่าเด็กไทยที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะไปสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ในวารสาร Tobacco Control ซึ่งเป็นวารสารด้านการควบคุมยาสูบอันดับหนึ่งของโลก การศึกษานี้เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่น ๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 6,045 ราย และติดตามผลไป 12 เดือน พบว่า เด็กที่ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ใด ๆ มาก่อน หากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีแนวโน้มไปลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มที่จะสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการเก็บข้อมูลระยะยาว ข้อสรุปจากงานวิจัยจึงสนับสนุนว่า “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่การสูบบุหรี่ธรรมดาจริง”
ศ.ดร.สแตนตัน แกล็นซ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิจัยการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้พบความเสี่ยงที่บุหรี่ไฟฟ้าไปเพิ่มโอกาสการสูบบุหรี่ธรรมดาในเด็กเพิ่มสูงกว่างานวิจัยในอดีต แต่สอดคล้องกับงานวิจัยใหม่ ๆ จากประเทศทางตะวันตก เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สะท้อนถึงความจริงที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ เช่น กลุ่มที่เป็น pod vape ที่มีการใช้กันมากในกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีการใช้เกลือนิโคตินแทนนิโคตินแบบดั้งเดิม หรือบางชนิดใช้นิโคตินสังเคราะห์ มีฤทธิ์การเสพติดที่เพิ่มขึ้น
“งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายของไทยในการคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะมีแรงกดดันจากฝ่ายบริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้หักล้างข้อเรียกร้องของผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในไทย โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไม่เพิ่มการสูบบุหรี่ธรรมดา” ดร.แกล็นซ์ กล่าว
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ