28 กันยายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2565 ในวันพุธที่ 28 กันยายน 2565 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ในตอนหนึ่ง นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีแนวทางป้องกันจุดอ่อน รั่วซึม ไม่ใช่เกิดขึ้นแล้วแก้ไข
“เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราเรียกสำนักระบายน้ำเข้ามาพูดคุยหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วม ผมบอกว่าหลายเขตต้องการเครื่องสูบน้ำ จึงสอบถามข้อมูลว่ามีอยู่ในมือเท่าไหร่ มีอยู่เหยียบ 1,000 เครื่อง ทั้งที่เป็นเครื่องสูบแบบเครื่องยนต์ และไฟฟ้า แต่ท่านประธานทราบหรือไม่ ทุกเครื่องไม่ได้ใช้การได้
และผมถามสำนักระบายน้ำว่า ตอนนี้ท่านมีเครื่องสำรองหรือไม่ หากว่าจุดไหนมีน้ำท่วม สำนักระบายน้ำตอบอย่างภาคภูมิใจ บอก ‘ไม่มีเลย’ ตอนนี้สำนักระบายน้ำต้องยืมเครื่องจาก ปภ.มาใช้ 40 กว่าเครื่อง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมาอีก ผมถามว่า ทำไมท่านไม่ซื้อเครื่องสูบน้ำ เขาบอก ขอไปแล้วไม่ได้งบ”
“ตอนนี้ถ้าจุดไหนมีน้ำท่วมท่านทำอย่างไร เขาตอบด้วยความภาคภูมิใจในการทำงาน ‘ก็ไปเอาเครื่องเขตที่ไม่ท่วม มาตั้งแทนเขตที่ท่วม’ ผมเลยบอกว่า ท่าน ถ้าอย่างนั้นทำงานไม่ถูกต้อง ขยับไปขยับมาอยางนี้หรือ ที่ผ่านมาในการพิจารณางบที่ผ่านไปไม่นาน สำนักระบายน้ำเสนอเครื่องสูบน้ำ ถ้าจำไม่ผิดขอเครื่องสูบไม่เกิน 10 เครื่อง ถามรอบนี้รู้สึกซื้อไปเครื่องเดียว สำนักระบายน้ำไม่มีเครื่องสูบน้ำบริการ ท่านทราบหรือไม่ หรือมีหน่วยงานอื่นมาสนับสนุนเยอะแล้ว ไม่ต้องซื้อก็ได้” นายนภาพลกล่าว และว่า
ถ้าเราไม่มีแนวทางป้องกัน ผู้บริหารไม่ทราบ เรียกสำนักการระบายน้ำมาสอบถามก็ได้ ว่ามีอะไรที่ต้องสนับสนุน มันน่าจะทำได้เร็วกว่านี้หรือไม่
นายนภาพลกล่าวต่อว่า ช่วงหาเสียง ฝ่ายบริหารบอกว่า ท่านศึกษามาแล้ว 2 ปีจุดไหนเป็นจุดอ่อน มีปัญหา
“แต่ท่านเข้ามาแล้ว 3 เดือน ทำไมไม่ขุดลอกตั้งแต่ตอนนั้น ผมถาม ทำไมมาทำปลายปี เสนอสิงหาคม กันยายน งบประมาณหมดแล้ว ถ้าเป็นผม ผมว่าเป็นการใช้เงินที่ผิดวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ฉะนั้น การแก้ไขปัญหา ต้องเตรีมการก่อน ไม่ใช่ให้เกิดแล้วแก้ไข
ให้เกิดก่อน แล้วค่อยไปสูบน้ำออกใช่ไหม จุดเสี่ยงท่านรู้อยู่แล้ว ไม่เอาเครื่องสูบน้ำไปตั้งไว้ พอเกิดปัญหาก็ไม่ต้องขนย้าย เสียเวลา ต้องให้ชาวบ้านเดือดร้อนก่อนถึงจะไปทำใช่ไหม ขอฝากท่านประธานถึงฝ่ายบริหาร ต้องบูรณาการ สอบถาม ช่วย และปรึกษาคนที่รู้ ไม่ต้องอาย ต้องยอมรับ ต้องเร่งด้วน เราไม่ใช่แก้ไข ต้องป้องกัน ทุกด้าน โควิด-19 ก็เหมือนกัน” นายนภาพลกล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ