2 ต.ค. 65 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 โดยกำหนดเพิ่มอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ยุติการตั้งครรภ์โดยไม่ผิดกฎหมาย ว่า กฎหมายที่ออกมา ย้ำว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เดินเข้ามาสถานพยาบาลแล้วจะได้รับการยุติครรภ์ เพราะจะมีขั้นตอนตามกระบวนการ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา พิจารณาว่าควรหรือไม่ควรอย่างไร โดยข้อมูลพบว่า มารดาที่ได้รับคำปรึกษาเกินครึ่งหนึ่งเปลี่ยนใจตั้งครรภ์ต่อ
อย่างไรก็ตาม ก่อนการยุติการตั้งครรภ์จะถูกกฎหมาย หลายคนไปทำแท้ง ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ เพราะคนที่ทำไม่ได้ผ่านการอบรม อันตรายที่เกิดขึ้นบ่อย คือ ติดเชื้อ ตกเลือด บางรายมีภาวะแทรกซ้อนตลอดชีวิตไม่สามารถมีลูกได้ บางรายอาจเสียชีวิต ทั้งนี้ เมื่อมีกฎหมายที่ถูกต้องออกมา หน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ เครือข่ายภาคเอกชนสามารถประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมารับคำปรึกษาได้
“คนที่ไม่กล้ามาเพราะกลัวว่าจะผิดกฎหมาย ก็จะกล้าเข้ามาปรึกษามากขึ้น สำนักอนามัยเจริญพันธุ์พยายามทำระบบออนไลน์ ผ่าน Telemedicine เป็นคลินิกให้คำปรึกษาโดยไม่เห็นหน้ากัน ทำให้วัยรุ่นกล้าเข้ามาปรึกษา เพื่อรับคำแนะนำว่าควรไปรับบริการที่ใด แต่หน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด รวมถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่ หลายคนทำใจไม่ได้ที่จะต้องทำ ก็ขอไม่ทำ แต่ก็จะมีเครือข่ายแพทย์ที่ยินดีทำอยู่มาก โดยกฎหมายกำหนดให้แพทย์ที่ไม่พร้อมทำจะต้องส่งต่อไปยังหน่วยที่พร้อม” นพ.เอกชัยกล่าว
เมื่อถามถึงกรณี สธ.ห่วงปัญหาเด็กเกิดน้อย แต่กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ที่กว้างขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างไร นพ.เอกชัยกล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการมีบุตรเน้นให้เด็กเกิดอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ส่งเสริมให้เกิดเยอะแต่ไม่มีคุณภาพ ส่วนนี้จะต้องมีวิธีการช่วยเหลือทางสังคมต่อไป เช่น การคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมก็บรรจุในสิทธิประโยชน์ที่มารดาสามารถคัดกรองให้เร็วที่สุดตั้งแต่ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการยุติครรภ์ เป้าหมายคือต้องการลดเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม
เนื่องจากข้อมูลชี้ชัดว่า เด็กกลุ่มนี้มีโรคภัยไข้เจ็บเยอะ ค่ารักษาพยาบาลต่อคนตลอดชีวิตหลายสิบล้านบาท การค้นเจอแล้วยุติการตั้งครรภ์ ก็จะช่วยลดภาระผู้ปกครอง แม้มีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย แต่มุมของพ่อแม่ที่ฐานะร่ำรวย มีศักยภาพพอก็ไม่มีปัญหา เลี้ยงลูกดาวน์ซินโดรมได้ แต่ครอบครัวที่ยากจน ก็อาจเกิดปัญหาได้ กระทบคุณภาพชีวิตที่ต้องคอยเข้า รพ บ่อยๆ ดังนั้น นโยบายยุติการตั้งครรภ์ จะต้องเลือกว่าเหมาะหรือไม่อย่างไร
เมื่อถามว่าควรสื่อสารป้องกันตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้เกิดค่านิยมท้องไม่พร้อมแล้วก็ทำแท้งได้ นพ.เอกชัยกล่าวว่า เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้เด็กตระหนักเรื่องเพศศึกษา การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรที่จะส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต ข้อมูลการคลอดบุตรที่มาจากมารดาวัยรุ่นในไทย ลดลงเรื่อยๆ ทุกปี จากที่เคยติดอันดับต้นๆ ของเอเชียอยู่ที่ 50 ต่อพัน ก็ลดลงมาราว 30 ต่อพัน ถือว่าไทยประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ขณะที่การตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มนี้ ยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ต้องลงไปหาสาเหตุ เช่นบางคนต้องการมีลูกเพิ่มเพราะมีศักยภาพเพิ่มขึ้น บางคนมีลูกกับสามีคนใหม่
ทั้งนี้ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครอบครัวและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้ไขปัญหา ทำให้เด็กมีความรู้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน เพื่อลดปัญหา หลายประเทศที่ขยับเรื่องนี้ก่อนไทยก็ทำได้ดี แต่ต้องมีมาตรการอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ ควบคู่ไปกับกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ คงไม่ใช่กฎหมายออกมาเพียวๆ แต่มาตรการอื่นไม่พร้อม
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ