7 ตุลาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม หารือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กใน จ.หนองบัวลำภู ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 38 คน และผู้บาดเจ็บอย่างไม่เป็นทางการอีก 10 คน ถือเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก และขอแสดงความห่วงใยไปยังครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบด้วย พร้อมได้แสดงความอาลัยโดยการยืนไว้ทุกข์เป็นเวลา 38 วินาที โดยสาระสำคัญของการประชุมในวันนี้ คือ การถอดบทเรียนเพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การสะเทือนขวัญดังกรณีเช่นนี้อีก ซึ่งจะต้องทบทวนความเข้มข้นในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด และคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนด้วย โดยได้มีการหารือแนวทางการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ขอชื่นชมความรอบคอบของคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของทางองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ที่ได้มีการวางแผนบริหารความเสี่ยงโดยได้มีการทำประกันชีวิตให้แก่เด็ก และครูที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สูญเสียไม่มากก็น้อย ซึ่งสิ่งที่ต้องคิดทบทวนต่อไป คือ จะเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นเมื่อหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ทำเต็มที่แล้ว เช่น ตรวจสอบความเสี่ยงจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ติดกล้อง CCTV การจัดเวรยามคัดกรองบุคคลเข้ามาในสถานที่ หรือความปลอดภัยอื่นๆ เบื้องต้นได้สั่งการให้ถอดบทเรียนและเร่งหารือแนวทางในการป้องกันแล้ว
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า วันนี้ได้สั่งการให้มีการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPIs แต่ละกระบวนการว่าจะทำอะไรบ้าง ภายในกรอบระยะเวลาเท่าไร เพราะทุกวัน เวลา วินาที มีค่า ในการป้องกันภัยสังคมเช่นนี้ ฝ่ายปกครองภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ จึงจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ โดยมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ดังนี้ 1.ให้กำชับมาตรการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด Re X-Ray กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด เพื่อลด Demand และ Supply ของยาเสพติด พร้อมทั้งนำผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา และเพิ่มความเข้มข้นการตรวจตรา ตั้งด่านชุมชน โดยปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุด ชรบ. เพื่อตรวจสารเสพติด เฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อสังคมและอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ รวมถึงการค้ามนุษย์
2.การปลุกจิตวิญญาณให้คนในหมู่บ้านช่วยกันระวังภัย ทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือ กม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนในชุมชน มีการสื่อสารหรือรายงานสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงให้กับฝ่ายปกครองทราบเพื่อจะได้เตรียมการป้องกันก่อนเกิดเหตุ 3.ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สนับสนุนการตั้งด่านชุมชนของกรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่
4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอให้ความสำคัญกับกิจกรรมของหมู่บ้าน/ชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต้องไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างแท้จริง และเฝ้าระวัง รวมถึงขยายผลไปยังเครือข่ายต่างๆ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่ให้มีการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
5.ได้กำชับให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนด้วย หากพบว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติให้ดำเนินการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้นทันที ตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นศึกษา และทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชน 2560 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือ สงเคราะห์ได้ครอบคลุมผู้เดือดร้อนทุกประเภท
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ