เผยวัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าผู้ชาย เหตุมีสารปรุงรส-แต่งกลิ่น





18 ต.ค.2565 ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายเท่ากับ 0.8% เพศหญิง 1.9% ขณะที่ผลการสำรวจภาวะสุขภาพของนักเรียนอายุ 13-17 ปี โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564 พบว่า นักเรียนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้า 18.7% นักเรียนหญิง 8.9% อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นและสูงกว่าผู้ชายมีความน่าเป็นห่วง ทั้งที่ผ่านมาอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยต่ำมาก

ผศ.ดร.ศรัณญา กล่าวต่อว่า สถิติล่าสุดปี 2564 เพศชายสูบบุหรี่ 34.7% เพศหญิง 1.3% เนื่องจากการสูบบุหรี่ (ธรรมดา) ของหญิงไทยไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม อาจจะเรื่องค่านิยม รวมทั้งกลิ่นเหม็นของบุหรี่ธรรมดาหรือยาเส้น

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจจากทั่วโลก รวมทั้งไทย พบวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงเท่ากับหรือสูงมากกว่าวัยรุ่นชาย เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงเอเชีย รวมถึงไทย สาเหตุมาจากบุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ผู้ผลิตใช้สารปรุงรสมากกว่า 16,000 ชนิด และไม่มีกลิ่นเหม็นจากการเผาไหม้

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า รวมทั้งอุปกรณ์สูบที่รูปทรงสวย ขนาดเล็ก สามารถพกซ่อนติดตัวได้ง่าย ทำผู้หญิงเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีอำนาจเสพติดสูงมาก ข้อมูลจากอังกฤษ ปี 2020 อัตราการสูบบุหรี่ของหญิงคลอดบุตรสูงถึง 10.4% จากจำนวนหญิงคลอดบุตร 6 แสนกว่าคน สะท้อนว่ามีหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 6 หมื่นคน ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์จนถึงคลอดลูก แม้รู้ว่าการสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ ตั้งแต่การเสี่ยงแท้งลูก ลูกคลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด เด็กตายหลังคลอด จนถึงเด็กคลอดออกมาพิการปากแหว่ง

“การที่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้แม้ระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งที่อังกฤษมีโครงการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ให้เลิกสูบอย่างจริงจัง แสดงถึงความรุนแรงของการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ ซึ่งการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นการเสพติดนิโคตินตัวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เริ่มมีงานวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะเลิกยากกว่าบุหรี่ธรรมดา เพราะแรงจูงใจในการเลิกของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยกว่าคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา จากการที่มีความเชื่อผิด ๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่า จึงขอวิงวอนให้ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน เร่งให้ความรู้อันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็กและยาวชน เพื่อป้องกันเยาวชน โดยเฉพาะเพศหญิงจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: