จากกรณีนายคเณศ พิศณุเทพ หรือ เค ร้อยล้าน จักรภพมหาเดชา บุกล็อกคอ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเดิมนายคเณศ มีประวัติเป็นผู้ป่วยอารมณ์แปรปรวน จนสร้างความกังวลให้กับผู้ที่อยู่ภายในงาน และเกิดข้อคำถามจากสังคมว่าบุคคลที่มีอาการทางจิตนั้นจะได้รับการดำเนินการต่อไปอย่างไร
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ก.ย. มีผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรง 3,815 ราย จำนวนนี้ก่อเหตุรุนแรงซ้ำ 510 ราย ทั้งหมดเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา แต่สิ่งสำคัญคือการช่วยกันเป็นหูเป็นตาสังเกต พฤติกรรมบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต กำหนดให้บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีภาวะอันตราย หรือ มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา
ผู้ใดพบบุคคลมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะดังกล่าวให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาล เพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ
“ขอวอนสังคมให้ความสนใจเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิต ตระหนักแต่ไม่ตระหนกจนเกินไป หากพบบุคคลแสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ มีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตรายโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323” นพ.จุมภฏกล่าว
นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ส่วนความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติในสังคม การแก้ไขความขัดแย้งมีทั้งในเชิงบวก นำไปสู่การช่วยกันแก้ไขที่ดีมากยิ่งขึ้น ส่วนเชิงลบจะนำไปสู่ความรุนแรง เกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย การป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง คือ ต้องมองความขัดแย้งเป็นเรื่องของระบบ มุมมองหรือทัศนคติ ไม่บ่งชี้ไปที่ตัวบุคคล วิธีการแก้ไขคือเจรจา ประนีประนอม หรือให้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ไม่ทำร้ายผู้เห็นต่าง ซึ่งยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างไม่มีที่สิ้นสุด
ด้าน นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า การก่อเหตุในคนไข้จิตเวชแต่ละรายแตกต่างกัน จึงไม่สามารถลงรายละเอียดในกรณีของ “เค ร้อยล้าน” ได้ แต่พูดภาพรวมเมื่อมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายต้องแยกก่อนว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนไข้จิตเวชหรือไม่ หรือทำไปเพราะนิสัย หรืออารมณ์
หากเป็นคนไข้จิตเวชที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็ต้องมาดูว่าเป็นโรคอะไร มีหลายโรค ทั้งจิตเภท อารมณ์แปรปรวน ฯลฯ ต้องให้การรักษา โดยผู้ป่วยหรือญาติพาเข้ามารับการรักษา รพ.จิตเวช กรณีไม่ยินยอมเข้ารับการรักษา มีพ.ร.บ.สุขภาพจิต หากเกิดความรุนแรง เกิดคดีความ ผู้เห็นเหตุการณ์ คนรอบข้าง เจ้าพนักงานตำรวจ ฝ่ายปกครองสามารถนำส่งสถานีตำรวจ เพื่อส่งต่อไปยัง รพ.ต่อไป
“เมื่อส่งมาที่ รพ.จิตเวช ทีมผู้รักษาจะดูว่า 1.ป่วยหรือไม่ 2.มีสติสัมปชัญญะขณะก่อเหตุหรือไม่ และ 3.คนไข้สู้คดีได้แล้วหรือไม่ นี่เป็นความยุติธรรมต่อทั้งโจทก์และจำเลย หากคนไข้ก่อเหตุขณะที่สติสัมปชัญญะดีก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำ หลังดูแล้วจะทำหนังสือเป็นพยานส่งให้กับพนักงานสอบสวน หรือชั้นศาล หรือชั้นอัยการที่สอบถามมา” นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าว
ถามว่ากรณีอาการกำเริบ จะไม่เลือกกลุ่มที่จะกระทำควมมรุนแรง หรือเจาะจงทำกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวว่า ทางการแพทย์เราแค่ตรวจว่าป่วยหรือไม่ ป่วยเพราะอะไร แต่เรื่องความเชื่อมโยงสำนวนคดีเป็นเรื่องของตำรวจ เราไม่ได้บอกว่าเขาทำสั่งนั้นได้หรือไม่ได้ เพราะจริงๆ หากคนไข้ที่รักษาโรคดีๆ ก็เหมือนคนปกติที่สามารถคิดได้ วางแผนได้ เป็นเรื่องๆ
แต่ขณะที่ทำไม่มีสติก็ต้องคุยกันอีกแบบ เป็นกระบวนการทางนิติจิตเวช ซึ่งทีมผู้รักษาพิจารณาขณะนั้นทำส่งกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่ง อยู่ที่ว่าจะพิจารณาคดีอย่างไร กระบวนการนิติจิตเวชพัฒนามาเป็นสิบๆ ปี สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ป่วยมีสภาพเป็นอย่างไรขณะนั้น
ถามว่าอารมณ์แปรปรวน รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวว่า การรักษามาตรฐานคือกินยา ควบคุมอาการไปตลอด องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นโรคเรื้อรังเหมือนเบาหวาน ความดัน แต่มีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาว่ารักษา 4-5 ปี ก็หยุดได้ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เมื่อถามว่า มีการมองว่ากรณี เค ร้อยล้าน เป็นความรุนแรงทางการเมืองเกิดจากการเลียนแบบ หรือเอาคืนกรณีบุกทำร้ายนายศรีสุวรรณ จรรยา นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวว่า การแก้ไขด้วยความรุนแรงไม่ได้ ต้องค่อยพูดค่อยจา การอยู่ในโลกประชาธิปไตย เห็นต่าง เห็นไม่เหมือนกัน แต่เราคุยกันได้ มีวิถีทาง ช่องทาง และสถานที่ให้พูดคุยกัน
หากรู้สึกว่ากำลังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ต้องดูว่าได้รับสิ่งกระตุ้นจากอะไร บางคนดูข่าวทั้งวัน ทำให้เครียด กังวล และมีอารมณ์ร่วม ขอให้ดูแลตัวเอง ปิดรับข่าวสารแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น ญาติพี่น้องก็ต้องช่วยดูด้วย หากคนใกล้ชิดเริ่มอินหรือมีอารมณ์ร่วมมากต้องพยายามนำออกจากสิ่งกระตุ้น
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ