“ประยุทธ์” สั่งเยียวยาน้ำท่วมใช้เกณฑ์ปี54 จ่ายครอบครัวละ5,000





(26 ต.ค.2565) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและเตรียมงบประมาณในการเยียวยา โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับปี 2554 และในปี 2559

โดยให้นำหลักเกณฑ์การเยียวยาช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยเมื่อปี 2554 เพิ่มเติมครอบครัวละ 5,000 บาท และในปี 2559 ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท เสนอที่ประชุมครม.พิจารณาต่อไป

วันนี้มีความคืบหน้าเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วม โดยนำหลักการของปี 2554 และได้เร่งรัดให้จ่ายเงินเยียวยา เพราะมีประชาชนเดือดร้อนเยอะ แต่ครั้งนี้แตกต่างน้ำท่วมในวงกว้าง

สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน สำนักงบประมาณได้ตั้งงบกลางช่วยเหลือ 2,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเยียวยาเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

ส่วนกระทรวงการคลัง ได้มีมาตรการลดหย่อนภาษี ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขยายระยะเวลายื่นแบบภาษี ยกเว้นค่าเช่าให้ผู้เช่าพื้นที่ราชพัสดุ

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกรมชลประทานเร่งผลักดันน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลัก รวมถึงการยางแห่งประเทศไทย ได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย เป็นรายหัวเช่นกัน

ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้รายงานภาพรวมการช่วยเหลือ ทั้งนี้ เรื่องน้ำท่วม ตั้งแต่ 28 ก.ย.-24 ต.ค.นี้ มีผู้ได้รับผลกระทบใน 59 จังหวัด ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังหรือล้นตลิ่ง 26 จังหวัด ทั้งนี้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ช่วยเหลือผ่านกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยไปแล้วกว่า 65 ล้านบาท

นายกฯ ยันดูแลผลกระทบน้ำท่วม

นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามดูแลการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ได้รับฟังปัญหาจากพี่น้องในพื้นที่ และได้เร่งรัด กำชับให้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และรวดเร็วที่สุด โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการช่วยเหลือประชาชนในการประชุมครม.ดังนี้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

ปภ.ให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ได้แก่

  • ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
  • กรณีบาดเจ็บสาหัสฯ ให้จ่ายเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท
  • ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ เท่าที่จ่ายจริงหลังละ 49,500 บาท
  • ด้านการเกษตร ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่พืชตาย หรือเสียหายตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริงที่ได้รับความเสียหาย ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยคิดจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ย

โดยช่วยเหลือไปแล้วรวมทั้งสิ้น จำนวน 79,013,666.76 บาท

กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกฯ

  •  ค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท
  •  เงินทุนเลี้ยงชีพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท
  •  เงินทุนเลี้ยงชีพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท
  • ค่าวัสดุในการก่อสร้างซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง ไม่เกินหลังละ 220,000-230,000 บาท เสียหายมาก ไม่เกินหลังละ 70,000 บาท และเสียหายน้อย ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท
  • ค่าเครื่องอุปโภค และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัวแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง และเสียหายมากครัวเรือนละ 5,000 บาท
  • โดยได้จัดทำถุงยังชีพ และมอบไปแล้ว 92,361 ถุง ใน 13 จังหวัด คิดเป็นเงิน 64,652,700 บาท

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 151 ราย รายละ 3,000 บาท เป็นเงิน 453,000 บาท ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2547

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย

  • เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง กรณีสวนยางประสบภัย รายละไม่เกิน 3,000 บาท

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว 180,957,628.94 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นได้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาจใช้เงินสะสมของ อปท. เพื่อช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสม

สำนักงบประมาณ

ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ประกอบด้วย งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 92,400 ล้านบาท และงบกลางรายการชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งในกรณีหน่วยงานมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ สามารถขอรับการจัดสรรจาก 2 ส่วนนี้ได้

หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ระดมความช่วยเหลือสู่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เช่น

  • กรมสรรพากร มีมาตรการการลดหย่อนภาษี
  • กรมสรรพสามิต ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยการขยายเวลายื่นแบบภาษี
  • กรมธนารักษ์ ยกเว้นค่าเช่าสำหรับผู้เช่าที่ราชพัสดุเป็นเวลา 1 ปี
  • กรมชลประทาน เร่งผลักดันน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำออกไปสู่แม่น้ำสายหลักโดยเร็ว
  • กรมประชาสัมพันธ์ รายงานข้อมูล ข่าวสารด้านพยากรณ์อากาศ สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ให้คำแนะนำ และเตรียมช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำข้อมูลและมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาโดยด่วน

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ได้เน้นย้ำว่า สิ่งใดที่ทำได้ก่อน ขอให้ดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องรอน้ำลด ให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดค้างอยู่ในบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง พร้อมให้ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทุกประเภท ทั้งภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัย สามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไป

ขอให้พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมได้เชื่อใจ ว่าผมและรัฐบาล ได้รับทราบความเดือดร้อนของทุกท่านโดยไม่นิ่งนอนใจ

ทั้งในพื้นที่ที่ได้ไปตรวจเยี่ยม หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ไปก็ได้รับรายงานและติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุด

 

ข่าวจาก : thaipbs

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: