ส.ว.รุมค้าน ไม่เก็บดอกเบี้ย-ค่าปรับ กยศ. หวั่นกองทุนเจ๊ง





เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2565 ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบปรับแก้เนื้อหา จากร่างที่ครม.เสนอมา ไม่ให้คิดดอกเบี้ยกู้ยืม ไม่มีเบี้ยปรับจ่ายล่าช้า และไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี

โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงหลักการว่า กรณีที่สภาฯ แก้ไขเนื้อหาให้ปลอดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับนั้น ครม.เห็นว่าอาจนำมาซึ่งปัญหาขาดวินัยการชำระหนี้เงินกู้ ส่งผลให้เกิดอันตรายทางศีลธรรม ขาดจิตสำนึกส่งคืนเงินกู้ มีผลกระทบต่อการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เพราะขาดรายได้จากดอกเบี้ย เบี้ยปรับ

นายอาคม กล่าวต่อว่า หากเนื้อหายังเป็นเช่นนี้ อีกไม่เกิน 3 ปี อาจมีความจำเป็นต้องของบประมาณแผ่นดินเพิ่มเติม เพื่อให้มีเงินเพียงพอให้นักเรียนกู้ยืมต่อ หวังว่าวุฒิสภาจะพิจารณาให้กยศ.กำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับได้ เพื่อสร้างโอกาสการศึกษา สร้างวินัยการเงิน และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจประเทศที่เพิ่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจสถานการณ์โควิด-19

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็น ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายไปแนวทางเดียวกัน คือ เห็นด้วยกับหลักการร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ช่วยเหลือนักศึกษาได้มีเงินกู้ยืมเรียน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไม่คิดดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ เกรงจะเป็นต้นเหตุไม่มีใครคืนเงินกู้ยืม ทำให้กองทุนกยศ.ดำเนินการต่อไปไม่ได้ โดยเสนอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ แทนการไม่คิดดอกเบี้ย และไม่มีค่าปรับ

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยหลักการกฎหมายฉบับนี้ แต่ในร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ที่ไปแก้ไขหลักการของครม. ยึดหลัก 3 ไม่ 2 มี คือ ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ ไม่มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี ส่วน 2 มีคือ มีเวลาปลอดหนี้ทุกกรณี 2 ปี และมีผลย้อนหลังทุกกรณี ขณะนี้พอมีข่าวสภาฯ เห็นชอบร่างแก้ไข ทำให้มียอดไม่ชำระหนี้กยศ.สูงขึ้นหลายเท่าตัว เพราะร่างนี้ให้มีผลย้อนหลัง รอให้กฎหมายบังคับใช้ก็ได้อานิสงส์ไปด้วย

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ถ้าเนื้อหาเป็นเช่นนี้อีกไม่ถึง 3 ปี กองทุนกยศ.ต้องเอาภาษีประชาชนมาถม ร่างฉบับครม.ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการแก้หนี้ครัวเรือน ลดดอกเบี้ยจาก 7.5 ต่อปี เหลือไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และลดเบี้ยปรับ จากเดิมร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 18 ต่อปี เหลือไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ถือเป็นการปฏิรูปใหญ่อยู่แล้ว ไม่ควรไปแก้ไขเพิ่มอีก

ส่วนพล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ไม่ชำระหนี้กยศ.ขณะนี้เพิ่มเป็น 26% ถ้ากฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เงินทุนหมุนเวียนในกองทุนกยศ. ปีละ 4 หมื่นล้านบาท จะหายไปปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 2-3 ปี เงินสะสมในกองทุนกยศ.ก็จะหมด เด็กรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสได้เรียน

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเนื้อหาที่สภาผู้แทนราษฎรแก้ไข มองว่าการศึกษาเป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องดูแลประชาชน ไม่ใช่การให้กู้ยืมเงิน การออกกฎหมายกองทุนกู้ยืมเงินผิดมาตั้งแต่ต้น ไม่ควรให้เป็นการกู้ยืมเงิน แต่ต้องจัดเป็นสวัสดิการให้ประชาชน ในช่วงใกล้เลือกตั้งพรรคการเมืองเกทับรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองให้ประชาชนได้มากกว่ารัฐบาล ยิ่งใกล้เลือกตั้งประชาชนจะเลือกใคร ทั้งนี้ตนขอรับหลักการ และจะแปรญัตติเสนอให้รัฐต้องหางานให้ผู้เรียนจบได้ทำเพื่อมีรายได้ มาใช้หนี้และมีชีวิตอยู่ที่ดี

หลังจากที่ ส.ว. อภิปรายอย่างกว้างขวางนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมลงมติรับหลักการ เห็นด้วย 179 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 4 และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จำนวน 27 คน กำหนดแปรญัติภายใน 7 วัน ก่อนนำมาพิจารณาในวาระ 2 ต่อไป

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: