5 พฤศจิกายน ที่ห้องประมูลทรัพย์หลุดจำนำ สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ชั้น 3 อาคารโกลด์ มาร์เก็ต เขตจตุจักร มีการจัดประมูลทรัพย์หลุดจำนำของสถานธนานุบาล กทม. ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. โดยแบ่งเป็นประเภท ทองคำ นาก เงิน เพชร พลอยรูปพรรณ อัญมณี พระเลี่ยม และเบ็ดเตล็ด จำหน่ายโดยวิธีการประมูลด้วยวาจา ทั้งนี้ ทรัพย์หลุดจำนำมาจากสาขา ตลาดพลู บางกอกใหญ่ จอมทอง ทุ่งครุ บางบอน ราษฎร์บูรณะ และเทเวศร์
ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้ประมูลครั้งนี้ว่า ตนประกอบอาชีพค้าขายของหลุดจำนำ ซึ่งผ่านการประมูลมา 20 ปีแล้ว แต่ละการประมูลจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท โดยวันนี้ได้ประมูลทองรูปพรรณ เพชร พระเลี่ยมทอง ทั้งนี้ ต้องประมูลในราคาตามที่กำหนดมาล่วงหน้า เพราะทรัพย์บางตัวตั้งราคาสูงเกินไป
นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า การขายของหลุดจำนำก็พอได้กำไรบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนที่ขาย ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้าด้วย บางครั้งก็ขายขาดทุน เพราะหลายครั้งก็ประมูลสู้กับคนที่อยากได้จริงๆ บางทีสู้ราคาประมูลเกินกว่าที่ตั้งไว้แต่แรก จึงเป็นเหตุของการขาดทุน
เมื่อถามว่าการประมูลในรอบแรก เซ็ตทองรูปพรรณ ที่มีน้ำหนักรวมประมาณ 5 บาท ไม่มีคนยกป้ายประมูลสู้ ส่วนตัวมองว่าเพราะอะไร?
นายไพฑูรย์เผยว่า บางที สถานธนานุบาล กทม.ตั้งราคาประมูลแพงเกินไป ซึ่งการกำหนดราคาในตอนแรก ไม่ใช่ว่าจะซื้อได้ทุกชิ้น ต้องมีสายตาในการดู เพราะต้องดูยี่ห้อทอง บางทีก็มีทองคำเปอร์เซ็นต่ำ
ต่อมา นายไพฑูรย์พาผู้สื่อข่าวสังเกตสร้อยและแหวนทองรูปพรรณ ผ่านแว่นขยาย โดยแนะนำให้ส่องดูเลขเปอร์เซ็นต์ทอง และยี่ห้อของทองรูปพรรณ โดยสร้อยทองรูปพรรณสลักเลข 96.5 หมายถึงมีทองผสม 96.5% และสลักยี่ห้อทองเป็นอักษรจีน “น่ำซงหลี” ส่วนแหวนทองมีการสลักยี่ห้อทองระบุในวงแหวนด้วย โดยนายไพฑูรย์ชี้ว่า ทองกองนี้ประมูลมาร่วม 200,000 บาท
“ทองคำต้องดูทุกเส้น ถ้าไม่มียี่ห้อ ต้องตีราคาให้ต่ำ เปอร์เซ็นต์ทองอาจจะไม่ถึง 96.5” นายไพฑูรย์กล่าว
ทั้งนี้ นายไพฑูรย์เผยอีกด้วยว่า การประมูลทองรูปพรรณมาสามารถขายต่อได้ง่าย ซึ่งการขายแต่ละทีจะต้องดูราคาทองรายวันด้วย ถ้าทองราคาตกก็จะไม่ขาย รอทองราคาขึ้นจึงจะปล่อยขาย ซึ่งเป็นที่มาของการได้กำไรจากการค้า โดยวันนี้ทองคำราคาอยู่ที่ บาทละ 29,650 บาท ราคาขึ้นจากเมื่อวาน 350 บาท ซึ่งมีปัจจัยจากราคาทองคำตลาดโลก ที่ขึ้นไปถึง 52 เหรียญสหรัฐ อยู่ที่ 1,681.38 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ