20 มกราคม 2566 นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้มีการเผยเคสคนไข้วัย 7 ขวบ มาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดฟันไข้สูง เพียง 2 วัน จากนั้นมีอาการปวดหัว ซึมลง จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แล้วส่งต่อไปยัง ICU เด็กของเรา ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง มีการคั่งของหนองในช่องเยื่อหุ้มสมองชั้น ซับดูรา (subdural empyema) ตรงลูกศรสีแดงที่ชี้หลายจุด
ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาใน ICU และผ่าตัดระบายหนองออกจากสมอง ผลการเพาะเชื้อก็ตามคาดขึ้นเชื้อ Streptococcus anginosus group (SAG) ทั้งจากหนองที่พบในชั้นเยื่อหุ้มสมอง และในกระแสเลือด คำถามคือเจ้าเชื้อตัวนี้พบได้ที่ไหนในร่างกายเราบ้างแล้วมันมาก่อปัญหาให้กับผู้ป่วยคนนี้ได้อย่างไร หากเปิดตำราดูจะพบว่า เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus anginosus group (SAG) เป็นเชื้อที่พบในช่องปาก
ซึ่งเมื่อเปิดช่องปากของผู้ป่วยก็เป็นไปตามคาด ฟันผุ และเหงือกอักเสบมีหนองอยู่หลายตำแหน่ง และมีการบวมของต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ฟันผุและเหงือกอักเสบอย่างเรื้อรังต่อเนื่อง และมีการสะสมของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เป็นเหตุให้มีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดการสะสมของหนองที่เยื่อหุ้มสมอง
เชื้อนี้เป็นเชื้อที่พบได้ในคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปากและฟัน ไม่ว่าจะเป็นฟันผุหรือเหงือกอักเสบเรื้อรัง จริง ๆ ในคนปกติก็พบเชื้อนี้ แต่หากไม่มีการอักเสบ หรือช่องทางให้เชื้อเหล่านี้เล็ดลอดเข้ามาสู่กระแสเลือดในปริมาณมาก ๆ ได้ ก็มักไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา จึงอยากฝากกรณีนี้ให้เป็น เครื่องเตือนใจของคุณผู้ปกครอง ให้หันมาสนใจสุขภาพในช่องปากของบุตรหลานของท่าน ตั้งแต่เรื่องของการแปรงฟันตั้งแต่เด็ก ถึงเวลาต้องเลิกขวดนมก็คือเลิกโดยเด็ดขาด ไปจนถึงการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดฟันผุ เช่น ของหวานน้ำตาลที่มากเกินไป
ควรพาบุตรหลานไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจเช็กฟันเป็นประจำ ไม่ต้องรอให้เกิดฟันผุ แล้วค่อยไปหาหมอฟัน ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ จากฟันผุธรรมดา ๆ กลายเป็นปัญหาที่อาจพาให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าประมาท
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ